งดเหล้าแล้วชีวิตดีดี๊ (ตอนที่ 2)

งดเหล้าแล้วชีวิตดีดี๊-2

      

      ความสามารถในการดื่มของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนดื่มได้มาก บางคนดื่มได้น้อย ซึ่งก็ขึ้นกับปัจจัยพันธุกรรม เพศ มวลกาย (Body mass) และสภาพร่างกายทั่วไป อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยได้เปิดเผยมาตลอดว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเป็นอันตรายต่อสุขภาพและนำไปสู่เหตุของการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ (Preventable cause of death)

      และนับเป็นสิ่งที่อันตรายมากในการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาบางชนิดเพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น ยาเสียสาว หรือที่เรียกว่า ยา GHB (Gamma-Hydroxybutyric) ยาโรฮิบนอล (Rohypnol) ยาเค (Ketamine) ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Tranquilizers) และยานอนหลับ (Sleeping pills)

      หลังจากที่มีการดื่มอย่างหนักในตอนเย็น ผู้ดื่มอาจได้รับผลกระทบของแอลกอฮอล์ในตอนตื่นหรือที่เรียกกันว่า อาการเมาค้าง (Hangover) เพราะแอลกอฮอล์มีพิษ (Toxic) ต่อร่างกาย และร่างกายต้องทำหน้าที่ขับพิษออกให้หมด ซึ่งมีหลายอาการที่เกิดจากภาวะการขาดน้ำ (Dehydration) นอกจากนี้สารเคมีในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็อาจมีปฏิกริยากับหลอดเลือดและสมองจนทำให้มีอาการแย่ลง เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้
  • อ่อนเพลีย
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ปากและตาแห้ง
  • ไม่มีสมาธิ
  • กระสับกระส่าย ทุรนทุราย (Restlessness)

      โดยประมาณร้อยละ 20 ของแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมผ่านท้อง ส่วนใหญ่ที่เหลืออีกร้อยละ 80 จะถูกดูดซึมผ่านลำไส้เล็ก และประมาณร้อยละ 5 จะถูกขับออกทางปอด ไต และผิวหนัง ส่วนที่เหลือทั้งหมดจะถูกขับออกทางตับ

      เนื่องจากตับต้องทำหน้าที่กำจัดแอลกอฮอล์ในแต่ละครั้งที่ดื่ม ดังนั้นกรณีที่กำจัดไม่หมดแอลกฮอล์ก็จะคงอยู่ในร่างกายต่อไป ซึ่งปกติร่างกายจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ในการเผาผลาญแอลกอฮอล์ 1-2 แก้ว และใช้เวลา 24 ชั่วโมง ในการเผาผลาญแอลกอฮอล์ 8-10 แก้ว โดยอาการเมาค้างจะหายได้ใน 24 ชั่วโมง ซึ่งแพทย์มักจะแนะนำว่าไม่ให้ดื่มอีก 48 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูสภาพตัวเอง

      The World Cancer Research Fund and American Institute for Cancer Research ได้ระบุว่า มีหลักฐานยืนยันถึงความเชื่อมโยงระหว่างแอกอฮอล์และการเกิดมะเร็งที่ปาก คอหอย (Pharynx) กล่องเสียง (Larynx) หลอดอาหาร เต้านม ตับ ลำไส้ และทวารหนัก

      ซึ่งในกรณีของการเป็นโรคมะเร็งเต้านม ยิ่งดื่มมากก็ยิ่งเสี่ยงมาก ทั้งนี้ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากจะเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายขาดโฟเลต (Folate deficiency) และสามารถทำให้ยีนเปลี่ยนแปลงได้

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Ten health risks of chronic heavy drinking. https://www.medicalnewstoday.com/articles/297734.php [2018, September 14].
  2. Alcohol: Balancing Risks and Benefits. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/healthy-drinks/drinks-to-consume-in-moderation/alcohol-full-story/ [2018, September 14].
  3. What effects does alcohol have on health?https://www.medicalnewstoday.com/articles/305062.php [2018, September 14].