คู่ปรับสิงห์รมควัน (ตอนที่ 3)

คู่ปรับสิงห์รมควัน-3

ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด (ต่อ)

  • การสัมผัสกับแร่ใยหิน (Asbestos) และสารก่อมะเร็งอื่นๆ – เช่น สารหนู (Arsenic) โครเมียม (Chromium) และ นิเกิล (Nickel) โดยจากการศึกษาพบว่า คนที่ทำงานเกี่ยวกับแร่ใยหินและไม่ได้มีการสูดเข้าไปจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 5 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ ในขณะที่คนที่ทำงานเกี่ยวกับแร่ใยหินและมีการสูดเข้าไปจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 50-90 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ
  • การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด – จะทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น
  • การเป็นโรคเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease = COPD) เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ 4-6 เท่า หรือ โรคพังผืดในปอด (Pulmonary fibrosis) ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ 7 เท่า
  • มลภาวะ (Air pollution) อื่นๆ เช่น จากควันรถยนต์ การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล (Diesel exhaust) โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

โรคมะเร็งปอดอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น

  • หายใจลำบาก – เนื่องจากเซลล์มะเร็งโตขึ้นและปิดกั้นทางเดินหายใจ นอกจากนี้มะเร็งปอดยังเป็นสาเหตุให้มีการสะสมของของเหลวบริเวณรอบปอดซึ่งทำให้ปอดไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่เมื่อมีการหายใจเข้า
  • ไอเป็นเลือด (Hemoptysis) – มะเร็งปอดสามารถทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไอเป็นเลือด และบางครั้งสามารถทำให้เลือดออกมาก
  • ปวด – มะเร็งปอดในระยะที่กระจายไปยังบริเวณอื่น เช่น กระดูก จะทำให้เกิดอาการปวดได้
  • มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion) – เป็นสาเหตุทำให้หายใจลำบาก
  • มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น (Metastasis) – เช่น สมอง กระดูก ตับ

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งปอด แพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจหาเซลล์มะเร็งด้วยวิธีดังนี้

  • การเอ็กซเรย์ทรวงอก
  • การตรวจหาเซลล์มะเร็งในเสมหะ (Sputum cytology)
  • การตัดเนื้อเยื่อไปตรวจ (Biopsy) ซึ่งสามารถทำได้หลายทาง เช่น

o การส่องกล้องผ่านทางหลอดลม (Bronchoscopy) - เป็นการใช้กล้องขนาดเล็กสอดเข้าทางหลอดลมเข้าสู่ปอดเพื่อดูดของเหลว และตัดชิ้นเนื้อมาวิเคราะห์หาเซลล์มะเร็ง

o การตรวจช่องกลางทรวงอก (Mediastinoscopy) - เป็นการผ่าเปิดส่วนบนของกระดูกทรวงอกและสอดกล้องเพื่อเก็บชิ้นเนื้อและน้ำเหลืองเพื่อตรวจทางเซลล์วิทยา

o การตัดชิ้นเนื้อโดยใช้เข็มขนาดเล็ก (Fine-needle aspiration) - เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กแทงผ่านทางช่องอกไปยังปอดเพื่อดูดของเหลวและเนื้อเยื่อมาวิเคราะห์

  • การทำซีทีสแกน (CT scan) หรือ ทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อวิเคราะห์หาตำแหน่งก้อนเนื้อมะเร็ง และดูความผิดปกติของปอด
  • การทำเพ็ทสแกน (PET scan) เพื่อทราบตำแหน่ง ขนาด ของเซลล์มะเร็งที่เกิดได้ชัดเจน

แหล่งข้อมูล:

  1. Lung cancer. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lung-cancer/basics/definition/con-20025531 [2017, October 19].
  2. Lung Cancer. http://www.medicinenet.com/lung_cancer/article.htm [2017, October 19].