คู่ปรับสิงห์รมควัน (ตอนที่ 2)

คู่ปรับสิงห์รมควัน-2

สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่ ทั้งตัวผู้สูบเองและผู้สูบบุหรี่มือสอง” (Secondhand Smoker) อย่างไรก็ดี มะเร็งปอดก็อาจเกิดได้ในผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่หรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ ซึ่งไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน

แพทย์เชื่อว่าการสูบบุหรี่ทำลายเซลล์ที่อยู่ในปอด เพราะมีการสูดเอาควันที่เป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogens) เข้าไป ทำให้เนื้อเยื่อในปอดมีการเปลี่ยนแปลงเกือบจะทันทีทันใด โดยในระยะแรกร่างกายอาจจะสามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนนี้ได้ แต่เมื่อมีการสูบซ้ำๆ เซลล์ก็จะถูกทำลายมากขึ้นจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด

แพทย์ได้แบ่งมะเร็งปอดออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ตามการปรากฏของเซลล์มะเร็งที่เห็นผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งได้แก่

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก (Small cell lung cancer = SCLC) มักเกิดในผู้ที่สูบบุหรี่อย่างหนักและพบได้ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วย เป็นมะเร็งชนิดที่โตเร็ว
  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer = NSCLC) เป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด พบได้ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วย สามารถแบ่งย่อยได้เป็นมะเร็งปอดอีกหลายชนิด โดยหลักๆ ได้แก่

o ชนิด Adenocarcinoma เป็นชนิดที่พบมากที่สุดของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต มักเกิดในบริเวณรอบๆ ปอด โดยอาจแบ่งย่อยได้อีกเป็นชนิดที่เรียกว่า Bronchioloalveolar carcinoma

o ชนิด Squamous cell carcinoma เป็นชนิดที่พบรองลงมา มักเกิดที่กลางอกบริเวณหลอดลม (Bronchi)

o ชนิด Large cell carcinoma เป็นชนิดที่พบน้อยที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดมีทั้งชนิดที่ควบคุมได้อย่างการเลิกสูบบุหรี่ และชนิดที่ควบคุมไม่ได้อย่างการมีประวัติคนในครอบครัวเป็น

  • การสูบบุหรี่ – จำนวนบุหรี่ที่ยิ่งสูบมากในแต่ละวันประกอบกับจำนวนระยะเวลาที่สูบมานานหลายปีล้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอด การเลิกสูบบุหรี่จะลดความเสี่ยงลงได้ ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ที่เป็นมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
  • การอยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ที่เรียกกันว่า “ผู้สูบบุหรี่มือสอง” (Secondhand Smoker) - จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่อยู่ใกล้กับคนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขี้นถึงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ โดยความเสี่ยงจะมากขึ้นตามระยะเวลาและปริมาณที่สูด
  • การสัมผัสกับก๊าซเรดอน (Radon gas) – ก๊าซเรดอนเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง เกิดจากการสลายตัวตามธรรมชาติของแร่ยูเรเนี่ยมที่อยู่ในดิน หิน และน้ำ หรืออากาศที่ฟุ้งกระจายอยู่บนพื้นโลก ไม่มีรส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทใดๆ ของมนุษย์ เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้เป็นอันดับสองรองจากบุหรี่ (ประมาณร้อยละ 12 ของผู้ที่เป็นมะเร็งปอด)

[ก๊าซเรดอนสามารถผ่านเข้าสู่อาคารทางรูรั่วและรอยแตกร้าว นอกจากนี้ยังสามารถเข้าสู่อาคารโดยผ่านทางท่อน้ำใช้ ก๊าซธรรมชาติ และวัสดุก่อสร้าง โดยแหล่งกำเนิดก๊าซเรดอนที่สำคัญที่สุดคือพื้นดิน การลดการสะสมของก๊าซเรดอนในอาคารคือการสร้างอาคารให้มีระบบระบายอากาศที่ดี อาจมีการใช้แผ่นพลาสติกหรือผ้ายางชนิดพิเศษที่สามารถกันการซึมผ่านของก๊าซได้ปูที่พื้นที่อาคารก่อนทำการก่อพื้นอาคารเพื่อป้องกันก๊าซจากพื้นดินเข้าสู่อาคาร นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงการเกิดก๊าซเรดอนภายในอาคารบ้านเรือนทำได้ด้วยการใช้วัสดุก่อสร้างที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรดอนในปริมาณต่ำ]

แพทย์ได้แบ่งมะเร็งปอดออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ตามการปรากฏของเซลล์มะเร็งที่เห็นผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งได้แก่

แหล่งข้อมูล:

  1. Lung cancer. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lung-cancer/basics/definition/con-20025531 [2017, October 18].
  2. Lung Cancer. http://www.medicinenet.com/lung_cancer/article.htm [2017, October 18].