คู่ปรับสิงห์รมควัน (ตอนที่ 1)

คู่ปรับสิงห์รมควัน-1

ศ.น.พ.สารเนตร์ ไวคกุล นายกแพทยสมาคม เตือนนักสูบบุหรี่ที่สูบมาเกิน 10 ปี แม้ตรวจเอ็กซเรย์ติดต่อกันทุก 6 เดือนไม่พบความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ว่าควรตรวจอื่นๆ เพิ่มหรือไม่ เช่น คอมพิวเตอร์สแกน เพราะเป็นวิทยาการที่เห็นความผิดปกติได้ชัดเจน เช่น ก้อนมะเร็งที่ซ่อนอยู่ในมุมที่เครื่องเอ็กซเรย์ไม่สามารถตรวจพบได้ ถ้าสูบเกินสิบปี แม้เลิกสูบเป็นสิบปีแล้วก็ยังมีโอกาสเสี่ยงมะเร็งปอด ควรตรวจติดตามอย่างน้อยปีละครั้ง

ปัจจุบัน มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายไทยเป็นอันดับหนึ่ง ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดปีละประมาณ 57,000 คน นอกจากนี้ควันบุหรี่ยังก่อให้เกิดมะเร็งปอดแก่ผู้ที่ไม่ได้สูบแต่อยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ที่เรียกกันว่า “ผู้สูบบุหรี่มือสอง” (Second hand Smoker) ด้วยเหตุผลนี้จึงมีกฎหมายปรับผู้ที่สูบบุหรี่ในเขตห้ามสูบ เช่น รถยนต์โดยสาร อาคารสำนักงาน ตลอดจนสถานที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น

ศ.น.พ.สารเนตร์ กล่าวว่า สำหรับคนที่เคยสูบบุหรี่มาเกิน 10 ปี แม้เลิกสูบแล้วก็ควรตรวจเอ็กซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะสารพิษในบุหรี่จะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อของปอดอย่างต่อเนื่อง ร่างกายของบางคนมีความไวต่อพิษนี้ แม้เลิกสูบเป็นเวลานาน เนื้อเยื่อของปอดก็ยังถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง

ศ.น.พ.สารเนตร์ กล่าวอีกว่า มีคนไข้รายหนึ่งเลิกสูบมา 14 ปี สุขภาพทั่วไปดี เพราะออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควบคุมอาหาร ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี ไปตรวจเอ็กซเรย์ปอดทุก 6 เดือน ก็ไม่พบความผิดปกติ วันหนึ่งมีอาการไอรุนแรงโดยหาสาเหตุไม่พบ หายใจเข้าออกไม่สะดวก เหนื่อยหอบ ไม่มีแรง แพทย์จึงตรวจด้วยการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ จึงพบก้อนมะเร็งที่ลุกลามจนถึงระยะที่สาม ซึ่งถ้าพบแต่แรก โอกาสที่จะรักษาให้หายก็จะมากกว่านี้

มะเร็งปอด (Lung cancer) เป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการตายมากประเภทหนึ่งในผู้ชายและผู้หญิง คนที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งปอด โดยขึ้นกับระยะเวลาและจำนวนบุหรี่ที่สูบ

The American Cancer Society ได้มีการประเมินว่า ในปี พ.ศ.2559 มีชาวอเมริกันที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอดรายใหม่ 224,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดมากกว่า 158,000 ราย

มะเร็งปอดเป็นโรคที่มักเกิดในผู้สูงอายุ โดยร้อยละ 70 ของคนที่เป็นโรคนี้มีอายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของคนที่เป็นโรคนี้มีอายุต่ำกว่า 45 ปี โดยมีอายุมัธยฐาน (Median Age) อยู่ที่ 70 ปี

ปกติมะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงอาการแต่อย่างใด อาการมักปรากฏเมื่อเป็นในระยะที่มากแล้ว ซึ่งรวมถึงอาการดังต่อไปนี้

  • ไอไม่หาย
  • ไอปนเลือดแม้เพียงเล็กน้อย
  • หายใจลำบาก
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจเสียงดังฮืด ๆ (Wheezing)
  • เสียงแหบ (Hoarseness)
  • น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดกระดูก
  • ปวดศีรษะ

แหล่งข้อมูล:

  1. เลิกบุหรี่เกิน 10 ปี ยังมีสิทธิ์เสี่ยงมะเร็งปอด!! เตือนสิงห์อมควัน เอ็กซเรย์ไม่พบ ต้องตรวจเพิ่ม. http://manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx?NewsID=9600000070543 [2017, October 17].
  2. Lung cancer. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lung-cancer/basics/definition/con-20025531 [2017, October 17].
  3. Lung Cancer. http://www.medicinenet.com/lung_cancer/article.htm [2017, October 17].