คุยโขมง โรงพยาบาลทุติยภูมิ

อนุสนธิจากข่าวเมื่อวานนี้ การดูแลสุขภาพขั้นทุติยภูมิ (Secondary care) คือรูปแบบของบริการดูแลสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทาง (Specialist) และนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professional) ซึ่งมิได้พบผู้ป่วยเป็นคนแรก อาทิ แพทย์เชี่ยวชาญโรคหัวใจ (Cardiologist) แพทย์เชี่ยวชาญโรคทางเดินปัสสาวะ (Urologist) และ แพทย์เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง (Dermatologist)

การดูแลสุขภาพในขั้นนี้ รวมถึงการดูแลในรูปแบบฉับพลัน กล่าวคือเป็นการบำบัดรักษาเพียงระยะเวลาสั้นๆแต่เป็นกรณีรุนแรง ของการเจ็บป่วย บาดเจ็บ หรืออาการสุขภาพอื่นๆ อาทิ แผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังรวมทักษะความชำนาญระหว่างการคลอดบุตร การดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดกรณีวิกฤต (Intensive care) และบริการตรวจวินิจฉัยทางรังสีทางการแพทย์ (Medical imaging)

ในหลายๆ กรณีของการดูแลสุขภาพขั้นทุติยภูมิ อาจไม่จำเป็นต้องกระทำกันในโรงพยาบาล อาทิ การพบจิตแพทย์ (Psychiatrist) หรือนักวิชาชีพกายภาบำบัด (Physiotherapist) แต่บางบริการดูแลสุขภาพขั้นทุติยภูมิ อาจกระทำในโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับการจัดองค์กรและนโยบายของระบบสุขภาพแห่งชาติ ในประเทศอังกฤษ ผู้ป่วยต้องพบแพทย์ขั้นปฐมภูมิ ก่อนที่จะได้รับการส่งไปยังแพทย์ขั้นทุติยภูมิ [หรือตติยภูมิ]

ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระบบดูแลสุขภาพแบบตลาดผสม (Mixed market healthcare system) นั้น ในบางกรณีแพทย์อาจจำกัดขอบเขตการปฏิบัติงานของตนเอง เพียงขั้นทุติยภูมิ เท่านั้น โดยกำหนดให้ผู้ป่วยต้องพบแพทย์ขั้นปฐมภูมิก่อน

หรือในบางกรณีแพทย์ตติยภูมิ อาจมีข้อบังคับในเงื่อนไขการชำระเงินของแผนการประกันสุขภาพ (Health insurance plan) ในกรณีอื่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจพบผู้ป่วยโดยไม่ต้องมีการส่งต่อ และผู้ป่วยอาจตัดสินใจเลือกการส่งต่อด้วยตนเอง (Self-referral) ก็ย่อมทำได้

ในประเทศอังกฤษ และแคนานา ไม่มีระบบการส่งต่อด้วยตนเอง การส่งต่อโดยแพทย์จากขั้นปฐมภูมิไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุติยภูมิเป็นสิ่งจำเป็น โดยไม่คำนึงว่า การบำบัดรักษานั้น จะมาจากแหล่งเงินทุนของแผนประกันสุขภาพของเอกชน หรือ การประกันสุขภาพแห่งชาติ

นักวิชาชีพดูแลสุขภาพร่วม (Allied healthcare professionals) อาทิ นักบำบัดอาชีวเวชกรรม (Occupational therapist) นักบำบัดการพูดและเสียง (Speech therapist) และนักโภชนาการ (Dietitian) มักทำงานร่วมกัน ในการดูแลสุขภาพขั้นทุติยภูมิ โดยประเมินผ่านการส่งต่อด้วยตนเอง หรือส่งต่อด้วยแพทย์

ในประเทศไทย โรงพยาบาลประจำตำบลทุกแห่งให้บริการดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิ ส่วนการให้บริการดูแลสุขภาพขั้นทุติยภูมิ มีอยู่ตามโรงพยาบาลทั่วไปประจำจังหวัดทุกแห่ง และโรงพยาบาลอำเภอบางแห่ง อาทิ หัวหิน ปากช่องนานา เชียงคำ ด่านขุนทด บ้านโป่ง เสนา ตะกั่วป่า เบตงและสุไหงโก-ลก

แหล่งข้อมูล:

  1. Healthcare. http://en.wikipedia.org/wiki/Health_care
  2. โรงพยาบาลในประเทศไทย http://th.wikipedia.org/wiki/โรงพยาบาลในประเทศไทย