คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน: การตรวจระดับกรดยูริค

ผู้ป่วยโรคระบบประสาทโดยเฉพาะโรคอัมพาต แพทย์ผู้ดูแลจะส่งตรวจระดับกรดยูริค เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแข็งตัวของหลอดเลือด (atherosclerosis) ความเข้าใจผิดของผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปที่พบบ่อยมากในการตรวจวัดระดับกรดยูริค คือ การตรวจพบระดับกรดยูริคที่สูงกว่าปกติ (2.5-7 หน่วย) หมายความว่าเป็นโรคเก๊าต์

คนที่ตรวจพบว่ามีระดับกรดยูริคที่สูงขึ้นนั้นไม่ได้เป็นโรคเก๊าต์ทุกคน ผู้ที่มีระดับกรดยูริคสูงขึ้นอย่างเดียวโดยไม่มีอาการปวดข้อ ก็ไม่ได้เป็นโรคเก๊าต์ แต่เป็นภาวะกรดยูริคสูงอย่างเดียว ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในไตและภาวะหลอดเลือดแข็งตัว การรักษาก็ไม่ต้องทานยารักษาโรคเก๊าต์ ส่วนจะต้องทานยาลดระดับกรดยูริคหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับว่าระดับสูงแค่ไหน มีประวัตินิ่วไตในครอบครัวหรือไม่ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้ของการรักษาอย่างละเอียด

แต่ก็มีบางรายที่เข้าใจผิดได้ง่ายขึ้น เพราะมีอาการปวดข้อร่วมด้วย เหตุความเข้าใจผิดที่พบบ่อยที่สุด คือ ปวดข้อเข่าเวลานั่งยองๆหรือดินขึ้นบันได มีเสียงก๊อบแก๊บในเข่าชัดเจน ไปตรวจเช็คสุขภาพและตรวจพบกรดยูริคสูง จึงเข้าใจว่าเป็นโรคเก๊าต์ แต่จริงๆ คือเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมร่วมกับกรดยูริคสูง ไม่ใช่โรคเก๊าต์แน่นอน โรคเก๊าต์จะปวดบวมและร้อนที่ข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า น้อยมากๆที่จะเป็นข้อเข่า

ดังนั้น ระดับกรดยูริคที่สูงขึ้น ไม่ได้เป็นเป็นโรคเก๊าต์ทุกคน แต่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ทำให้มีโอกาสเป็นโรคอัมพาตหรือหลอดเลือดหัวใจตีบได้ และถ้ามีอาการปวด บวม แดง ข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า นิ้วมือ เป็นๆ หายๆ ร่วมกับกรดยูริคที่สูงก็อาจเป็นโรคเก๊าต์ได้สูง ดังนั้นการที่ท่านตรวจสุขภาพประจำปีและพบว่ามีระดับกรดยูริคที่สูง อย่าเพิ่งตกใจว่าเป็นโรคเกาต์ ต้องใช้ข้อมูลการเจ็บป่วยร่วมกับระดับกรดยูริค หรือในบางครั้งแพทย์จะต้องเจาะตรวจน้ำในข้อเพื่อนำมาดูว่ามีความผิดปกติเข้าได้กับโรคเก๊าต์หรือไม่ ดังนั้นถ้าจะให้ดีท่านก็ควรพบแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษา มิฉะนั้นท่านก็เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าตนเองเป็นโรคเก๊าต์ ส่งผลให้ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีได้