คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน: การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

ปัจจุบันปัญหาทางสมองเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ เนื่องจากประชาชนมีอายุยืนยาวมากขึ้นและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น พอมีอาการทางระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง ชา ชัก ผู้ป่วยก็ต้องการจะตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทุกคน ยิ่งปัจจุบันผู้ป่วยเกือบทุกคนใช้สิทธิการรักษา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ ข้าราชการ หรือประกันสังคม จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ถ้าแพทย์ส่งตรวจ ผู้ป่วยหรือญาติก็จะมาขอให้แพทย์ส่งตรวจ เพราะมีความกังวลใจว่าตนเองหรือพ่อ แม่นั้นจะมีโรคทางสมอง ซึ่งเข้าใจว่าถ้าได้ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองก็จะทำให้รู้ได้ทั้งหมดว่าเป็นโรคอะไร แพทย์ก็จะเกิดการเผชิญหน้ากับผู้ป่วยและญาติว่าไม่จำเป็น หรือบางครั้งผู้ป่วยก็ไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ศูนย์เอกชน พอได้ผลมาก็เกิดความวิตกกังวล เช่น พบสมองฝ่อ หินปูนในสมอง เราลองมาดูว่าเมื่อใดต้องส่งตรวจ และเมื่อพบความผิดปกติ หมายความว่าอย่างไร ควรทำอะไรต่อไป

เมื่อใดต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

  1. อาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เป็นขึ้นมาทันที หรือรวดเร็ว แพทย์สงสัยเป็นโรคอัมพาต หรือความผิดปกติในสมองแบบนี้ ต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองแน่นอน
  2. อาการปวดศีรษะร่วมกับมีภาวะความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง ได้แก่ อาเจียน ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน อาการปวดศีรษะรุนแรง อาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือผู้สูงอายุมีอาการปวดศีรษะครั้งแรกที่รุนแรง อาการปวดศีรษะในผู้ป่วยที่ทานยาละลายลิ่มเลือดหรือผู้ป่วยโรคตับวาย ไตวาย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
  3. อาการปวดศีรษะ ไข้ ร่วมกับความรู้สึกตัวผิดปกติ สงสัยภาวะไข้สมองอักเสบ หรือฝีในสมอง
  4. ประสบอุบัติเหตุที่มีอาการรุนแรง เช่น สลบ จำเหตุการณ์ไม่ได้ มีน้ำใสๆไหลทางจมูกหรือรูหู มีรอยคล้ำรอบๆตาหรือรอบๆหู ผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือดประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ กรณีต่างๆเหล่านี้ แพทย์ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองอย่างแน่นอน
  5. อาการที่สงสัยว่ามีรอยโรคในสมอง เช่น แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง ปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น ร่วมกับมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย มีอาการหลงลืมแบบรวดเร็ว หรือหลงลืมร่วมกับเดินเซ ปัสสาวะราด เป็นต้น

ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบความผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่

  • ความผิดปกติชัดเจนและสัมพันธ์กับอาการผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้องอก สมองขาดเลือดมาเลี้ยง เลือดออกในเนื้อสมอง หรือใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นดูรา เป็นต้น
  • ความผิดปกติที่ไม่สัมพันธ์กับอาการ พบได้ตามวัยหรือความผิดปกติที่พบได้ในคนปกติ เช่น หินปูนในสมอง สมองเหี่ยวเล็กน้อย ขนาดโพรงน้ำในสมองโตเล็กน้อย
  • ปัญหาที่พบบ่อยในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง คือ การที่ผู้ป่วยได้ทราบผลการตรวจโดยการอ่านจากผลการตรวจที่แพทย์รายงานผลไว้ แล้วไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองว่าผลรายงานนั้นหมายความว่าอย่างไร ตรงนี้เองที่ทำให้มีความเข้าใจผิดต่างๆมากมาย เช่น brain atrophy (สมองเหี่ยว), lacunar infarction (สมองขาดเลือดขนาดเล็กๆ), calcification (หินปูน), sinusitis (ไซนัสอักเสบ)โดยเฉพาะเมื่อตรวจพบสมองเหี่ยว ใจผู้ป่วยก็เหี่ยวไปด้วย ทั้งที่ตนเองไม่มีอาการใดๆ เลย

    ปัญหาที่พบรองลงไป คือ การที่ผู้ป่วยต้องการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง แต่แพทย์ผู้ดูแลไม่ส่งตรวจ เพราะพิจารณาแล้วว่าไม่จำเป็นต้องตรวจ ไม่ตรงกับข้อบ่งชี้การส่งตรวจของแพทย์ จึงอาจเกิดปัญหาในการให้บริการตรวจรักษาได้ บางครั้งนำมาซึ่งการร้องเรียนได้ เพราะผู้ป่วยหรือญาติเกิดความเข้าใจผิดว่าแพทย์ให้การบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นเราควรเข้าใจว่าเมื่อใดจำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือไม่ ผู้ป่วยทุกท่านไม่ต้องกังวลว่าถ้าจำเป็นต้องตรวจแล้วแพทย์ไม่ส่งตรวจ เพราะแพทย์เองมีหน้าที่ให้การรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด และพยายามจะให้การรักษาอย่างเต็มที่ตามมาตรฐานอยู่แล้ว

    ดังนั้น เมื่อเรามีอาการผิดปกติและไปปรึกษาแพทย์ แพทย์ก็จะพิจารณาว่า มีความจำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือไม่ การไปตรวจเช็คสุขภาพ ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเลย เพราะประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นน้อยมากๆ หรือเกือบไม่มีเลยก็ได้ ถ้าพบความผิดปกติก็อย่าเพิ่งตกใจ แนะนำให้ท่านนำผลการตรวจนั้นไปปรึกษาแพทย์ต่ออีกครั้ง