คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน เมื่อคุณพบแพทย์ ตอนที่ 25 ทำไมหมอจึงถาม

คุยกับหมอสมศักดิ์

เมื่อท่านผู้อ่านได้ติดตามบทความใน blog ตอนต่างๆของหัวข้อ “เมื่อคุณพบแพทย์” มาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ อาการผิดปกตินั้น จะเห็นได้ว่าแพทย์จะถามคำถามมากมาย ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวกับอาการนั้นๆ เลย ท่านผู้อ่านคงเกิดความสงสัยว่า “ทำไม” ทำไมหมอจึงถามอะไรก็ไม่รู้ จนผู้ป่วย ญาติก็ตอบไม่ได้ ลองมาดูเหตุผลครับว่า ทำไมหมอจึงถาม แล้วนำไปใช้ประโยชน์อะไร

  1. อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็วหรือค่อยๆ เป็น คำถามนี้แพทย์จะนำไปใช้พิจารณาหาสาเหตุของการเจ็บป่วยนั้นๆ เช่น เป็นขึ้นมาทันที สาเหตุก็มักจะเกิดจากโรคของหลอดเลือด ได้แก่ หลอดเลือดแตก หลอดเลือดอุดตัน หรือเกิดจากอุบัติเหตุก็จะเป็นอย่างรวดเร็ว ถ้าอาการค่อยเป็นค่อยไป ก็น่าจะมีสาเหตุจากโรคที่ค่อยมีอาการมากขึ้น เช่น เนื้องอก ความเสื่อมหรือค่อยๆ ได้รับสารพิษแบบสะสม
  2. อาการเป็นๆ หายๆ หรือเป็นตลอดเวลา แพทย์ก็จะนำมาพิจารณาหาสาเหตุของโรคเหมือนกัน เพราะจะมีโรคบางอย่างที่เป็นๆ หายๆ เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ลมชัก อาการเตือนของอัมพาตในบางกรณี บางโรคจะเป็นมากเมื่อทำกิจกรรม เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (myasthenia gravis : MG) พักก็ดีขึ้น โรคบางโรคเป็นตลอดเวลาและเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เนื้องอก
  3. เป็นมานานหรือยัง ถ้าเป็นมานานมากแต่ไม่รุนแรง ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ ก็อาจไม่เป็นอะไรที่ร้ายแรง เช่น ปวดศีรษะจากความเครียด กล้ามเนื้อหดเกร็งมากกว่าปกติ แต่ถ้าเป็นมาไม่นานอาการรุนแรงก็ต้องคิดถึงสาเหตุที่ร้ายแรง
  4. โรคประจำตัว เป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะโรคประจำตัวจะบ่งบอกได้ว่าสาเหตุของการเจ็บป่วยครั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกัน เช่น โรคเบาหวานก็จะทำให้มีอาการชา หรือปวด เจ็บบริเวณปลายมือปลายเท้าได้บ่อย หรือมีโอกาสเป็นอัมพาตได้สูง, โรคไทรอยด์ก็อาจมีอาการมือสั่น มองเห็นภาพไม่ชัด ภาพซ้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นๆ หายๆ ได้, หรือถ้าเป็นโรคมะเร็ง แพทย์ก็จะต้องคิดเป็นอันดับต้นๆ เลยว่าอาการผิดปกติดังกล่าวเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งหรือไม่
  5. ปัจจัยที่ทำให้อาการแย่ลงหรือดีขึ้น จะมีประโยชน์ในการบอกสาเหตุเช่นเดียวกัน ตัวอย่าง อาการชาเมื่อใช้มือมาก เช่น บิดผ้า ซักผ้า ทำอาหารจะชาที่มือมากขึ้น ก็บอกได้ว่าน่าจะเป็นเส้นประสาทมีเดียนถูกกด(carpal tunnel syndrome/โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ) หรืออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อดีขึ้นเมื่อบีบนวด ทำกิจกรรมยืดกล้ามเนื้อ ก็น่าจะมีสาเหตุมาจาก myofascial pain syndrome/กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อยื่อพังผืด
  6. ยาที่ใช้ประจำ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีโรคประจำตัว และใช้ยารักษาประจำ เช่น ปวดศีรษะเป็นประจำหลังจากทานยาขยายหลอดเลือดหัวใจ แพทย์ก็จะสามารถบอกสาเหตุของการปวดศีรษะได้ว่าเกิดจากยาที่ทาน
  7. ลักษณะการดำเนินโรค เช่น ปวดใบหน้าครั้งละไม่นานไม่กี่วินาที เป็นๆ หายๆ สาเหตุการปวดก็น่าจะเป็นจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 อักเสบ (trigeminal neuralgia/โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า)
  8. อาการผิดปกติอื่นๆ ที่พบร่วม เช่น มีอาการขาอ่อนแรง 2 ข้าง ร่วมกับปัสสาวะลำบาก ความผิดปกติก็น่าจะอยู่ที่ไขสันหลัง
  9. เกิดเหตุการณ์เจ็บป่วยก่อนมีอาการผิดปกติ เช่น ก่อนมีอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นไข้หวัดมาก่อน 2 สัปดาห์ แบบนี้สาเหตุของการอ่อนแรงน่าจะเป็นจากภูมิคุ้มกันที่ไวและทำลายระบบประสาทจากที่เป็นไข้หวัดนำมาก่อน
  10. ช่วงเวลาที่มีอาการผิดปกติ เช่น อาการอ่อนแรงช่วงบ่ายๆ ของวัน สาเหตุก็น่าจะเกิดจากโรคเอมจี (myasthenia gravis : MG) อาการปวดขา ขยับขา ตอนนอน พอลุกขึ้นก็หาย สาเหตุก็เป็นจากภาวะขาอยู่ไม่สุข (restless leg syndrome : RLS)

ท่านจะเห็นว่า ทุกคำถามว่า “ทำไม” มีคำตอบแล้วว่าแพทย์ถามไปทำไม ดังนั้น การเตรียมตัวที่ดีจะนำไปสู่การวินิจฉัย การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นท่านอย่าเพิ่งเบื่อหมอ และต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนพบแพทย์