คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอนเมื่อคุณพบแพทย์ ตอนที่ 21 เหม่อลอย

คุยกับหมอสมศักดิ์

อาการเหม่อลอย อาจเกิดจากการที่คนคนนั้นไม่สนใจใยดีต่อสิ่งรอบตัว แต่กลับปล่อยให้ตนเองล่องลอยไปที่อื่นๆ คิดถึงคนที่ไม่ได้อยู่ใกล้ ขาดสมาธิหรือเป็นโรคลมชักชนิดหนึ่งที่มีอาการนั่งนิ่งเหม่อลอย รวมทั้งการนอนหลับกลางวัน ดังนั้นอาการเหม่อลอย ก็ต้องใช้ประวัติที่มีรายละเอียดอย่างมาก ไม่แตกต่างกับอาการผิดปกติอื่นๆ หรืออาจจะต้องใช้มากกว่าด้วย ยากกว่าในการได้มาของประวัติ เพราะส่วนหนึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถบอกเล่าอาการที่เกดขึ้นได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในขณะนั้น ผู้ที่เห็นเหตุการณ์จึงต้องสังเกตการที่เกิดขึ้นให้ดี เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด

  1. อาการนั่งนิ่งเหม่อลอยนั้น เป็นนานเท่าใด ในแต่ละครั้งระยะเวลาในการเหม่อลอยแต่ละครั้งนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าเป็นการชักแบบนั่งนิ่งเหม่อลอยนั้น จะเป็นประมาณ 30-45 วินาทีไม่นานกว่านี้แต่ถ้าเป็นการนั่งใจลอยจะเป็นระยะเวลานานแตกต่างกัน
  2. อาการเป็นบ่อยแค่ไหน วันละหลายๆครั้ง หรือนานๆ ครั้ง
  3. มีอาการกระพริบตา เคี้ยวปาก ขยับปาก ถูมือไปมาหรือไม่
  4. การทรงตัวขณะที่มีอาการเหม่อลอยนั้น มีการโยกตัวไปมา เสียการทรงตัวหรือไม่
  5. หัวมีการโยกไปมา หรือผงกหัวหรือไม่
  6. มีการเดินไปมาหรือไม่
  7. เรียกรูสึกตัวหรือไม่
  8. มีการแสดงอาการตกใจเมื่อถูกเรียกหรือไม่
  9. อาการไข้ชักในวัยเด็ก
  10. อุบัติเหตุที่ศีรษะ
  11. ดื่มเหล้า สารเสพติด
  12. เคยมีอาการแบบนี้มาก่อนหรือไม่
  13. เคยมีอาการชักแบบอื่นๆ หรือไม่
  14. โรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง ลมชัก สมองเสื่อม
  15. ประวัติการคลอด การเติบโต พัฒนาการวัยเด็ก
  16. ยาที่ทานเป็นประจำ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาการนั่งนิ่งเหม่อลอยนั้นสำคัญครับ ไม่ง่ายในการวินิจฉัย ต้องอาศัยประวัติที่ละเอียดจากผู้ป่วยและผู้พบเห็น ถ้าท่านมีโอกาสเห็นใครมีอาการดังกล่าว และท่านสามารถนำกล้องใน “สมาร์ทโฟน” มาบันทึกภาพได้ทัน ก็จะเป็นการช่วยทำให้แพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น