คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอนเมื่อคุณพบแพทย์ ตอนที่ 18 หมดสติ

คุยกับหมอสมศักดิ์

อาการหมดสติ เป็นอาการที่อันตราย ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าได้รับการดูแลเบื้องต้นไม่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยต้องระวังไม่ให้ทางเดินหายใจมีการอุดตัน ป้องกันไม่ให้สำลักอาหารหรือน้ำลาย และต้องรีบนำส่งให้ถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุด เมื่อถึงห้องฉุกเฉินแพทย์จะรีบทำการประเมินสัญญาณชีพและให้การดูแลจนปลอดภัย ในขณะเดียวกันแพทย์ก็จะรีบสอบถามประวัติจากญาติหรือผู้นำส่งว่ามีประวัติอะไรบ้างที่อาจเป็นสาเหตุของการหมดสติได้ ประวัติที่ท่านจะสามารถบอกแพทย์ได้นั้น ท่านต้องมีสติและมีการเตรียมตัวอย่างดี มิฉะนั้นท่านจะไม่สามารถตอบคำถามแพทย์ได้เลย ลองติดตามดูครับว่าท่านต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

  1. ท่านไปพบผู้ป่วยเวลาเท่าไหร่
  2. ตอนที่ท่านไปพบผู้ป่วยนั้น ผู้ป่วยอยู่ในสถานที่ใด อยู่ในสภาพใด
  3. สภาพแวดล้อมที่ท่านไปพบผู้ป่วยนั้นมีอะไรที่ผิดสังเกตบ้าง มีสิ่งของกระจัดกระจาย ร่องรอยการต่อสู้ จดหมาย เอกสารที่บ่งบอกถึงสาเหตุได้
  4. พบ ยา ซองยา เม็ดยาหรือสารเสพติด สารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่ายาหรือไม่
  5. โรคประจำตัว เช่น ความเครียด จิตประสาท นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง ลมชัก เบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย ตับวาย เป็นต้น
  6. เวลาปกติครั้งสุดท้ายที่ทราบหรือเห็นว่าผู้ป่วยปกติดี
  7. ผู้ป่วยมีเรื่องสะเทือนใจหรือปัญหาทะเลาะกับใครหรือไม่
  8. ประวัติถูกทำร้ายร่างกาย
  9. การใช้สารเสพติด เหล้าเป็นประจำหรือไม่
  10. ตอนที่ท่านไปพบผู้ป่วย พบผู้ป่วยอาเจียนหรือมีปัสสาวะ อุจจาระราดหรือไม่
  11. ผู้ป่วยไม่สบายมาก่อนหน้านี้หรือไม่มีไข้ ปวดศีรษะ ซึมหรือความรู้สึกตัวเปลี่ยนไปหรือไม่
  12. ผู้ป่วยเป็นโรคลมชัก ทานยากันชัก และก่อนจะหมดสติหรือตอนที่ไปพบเห็นผู้ป่วยมีอาการชักหรือไม่
  13. ผู้ป่วยเคยมีอาการแบบนี้มาก่อนหรือไม่
  14. ระหว่างที่ท่านนำส่งโรงพยาบาลมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบ้าง เช่น ชักเกร็ง ปัสสาวะราด
  15. ระหว่างที่ท่านนำส่งโรงพยาบาลนั้น ท่านได้ให้การช่วยเหลืออย่างไร ได้ทำให้ผู้ป่วยอาเจียน หรือให้ผู้ป่วยทานยา น้ำ อาหาร หรืออะไรอื่นๆ หรือไม่

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ง่ายเลยนะครับที่เราจะตอบคำถามต่างๆ ที่แพทย์ต้องการได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ถ้าเราไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าแพทย์จะสอบถามอะไร สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ สติที่ท่านจะต้องพยายามรวบรวมให้มีสติที่ดีในการช่วยเหลือผู้ป่วย สังเกตสิ่งแวดล้อมที่ได้พบผู้ป่วยและรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อจะได้ตอบข้อซักถามของแพทย์ได้ ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด