คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน: การตรวจเอกซเรย์ปอด

การตรวจเอกซเรย์ปอดเป็นการสืบค้นหนึ่งที่แพทย์ส่งตรวจมากที่สุดก็ว่าได้ การตรวจเอกซเรย์ปอดจะบอกข้อมูลเกี่ยวกับปอดว่ามีรอยโรคผิดปกติหรือไม่ หัวใจมีขนาดปกติหรือโตกว่าปกติ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำในช่องอกปกติหรือไม่ กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกไหปลาร้า กระบังลมปกติหรือไม่ มีน้ำในเยื่อหุ้มปอดหรือน้ำท่วมปอดหรือไม่ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าการเอกซเรย์ปอดนั้นให้ข้อมูลมากมาย

อย่างไรก็ตาม การเอกซเรย์ปอด คือ การเห็นเพียงเงาเท่านั้น รายละเอียดต่างๆ น้อยมาก ดังนั้น การตรวจเอกซเรย์ปอดก็จะมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การตรวจพบว่ามีหัวใจโต เมื่อไปตรวจเช็คสุขภาพประจำปี และได้รับรายงานผลการตรวจสุขภาพว่า “ท่านมีหัวใจโต ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุของหัวใจโต”

เมื่อเห็นผลการตรวจว่าหัวใจโต ก็ตกใจแทบช็อก คิดไปต่างๆ นาๆ ว่าเราเป็นโรคหัวใจโต แสดงว่าหัวใจจะวาย น้ำจะท่วมปอด ต้องตายแน่ๆ ต้องตระเวนหาหมอโรคหัวใจหรือหมออายุรกรรม เมื่อไปพบหมอมาแล้วก็กลับไม่เชื่อ เมื่อหมอบอกว่า “คุณไม่ได้เป็นอะไรเลย” ก็ไม่เชื่ออีก ทุกข์ใจอยู่นาน บางคนต้องพบหมอผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจหลายคน บางคนไม่เชื่อก็ไปตรวจอัลตราซาวด์หัวใจเพิ่มอีก (echocardiogram) เมื่อหมอทุกคนพูดเหมือนกันและผลการตรวจก็ปกติ จึงเริ่มสบายใจ แต่ก็เป็นทุกข์และหมดเงินไปมากโดยไม่จำเป็น

ทำไมผลการตรวจเอกซเรย์จึงบอกว่าหัวใจโต เหตุผลง่ายๆ คือ เทคนิคการถ่ายเอกซเรย์ ถ้าขณะตรวจนั้นหายใจเข้าไม่เต็มที่ ยืนไม่ตรง เทคนิคที่ใช้ของเจ้าหน้าที่เอกซเรย์ไม่เหมาะสม ก็ทำให้ภาพเอกซเรย์ที่ให้มานั้นไม่ถูกต้อง แพทย์ก็อาจจะอ่านผลผิดพลาดได้ อย่าลืมว่าการตรวจเอกซเรย์นั้นเห็นแค่เพียงเงา และแพทย์ก็อ่านผลโดยที่ไม่ตรวจหรือเห็นหน้าท่านเลย การแปลผลก็ย่อมมีข้อจำกัดบ้าง

ดังนั้น กรณีทีท่านแข็งแรงดี ไปตรวจเช็คสุขภาพแล้วพบว่าผลการตรวจเอกซเรย์ปอดผิดปกติ อย่าตกใจเกินไป ขอให้ท่านตั้งสติให้ดีและค่อยๆ ปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเช็คร่างกายให้ละเอียด และแพทย์อาจจะพิจารณาข้อมูลจากผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ถ้าพบความผิดปกติจริง แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจอัลตราซาวด์หัวใจเพิ่มเติมกรณีจำเป็น

หรือกรณีท่านเป็นโรคความดันโลหิตสูงมานาน แล้วควบคุมไม่ดีก็อาจตรวจพบหัวใจโตได้ ซึ่งก็เป็นผลจากที่หัวใจของท่านทำงานมากจากภาวะความดันโลหิตสูง การแก้ไขคือ ต้องควบคุมความดันโลหิตให้ดี การตรวจสุขภาพหรือการตรวจเพิ่มเติมนั้น ทำเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัด ประกอบการตัดสินใจ การได้ข้อมูลที่ถูกต้องและทำความเข้าใจกับข้อมูลนั้นๆให้ดี จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ การตีความหรือคิดไปเองมากกว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้น ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

สรุป การตรวจเอกซเรย์ปอดนั้นเป็นการสืบค้นที่ทำบ่อยที่สุด และบอกข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพของปอด หัวใจ แต่มีข้อจำกัดในรายละเอียดและสาเหตุของความผิดปกติ ดังนั้นเมื่อพบผลการตรวจผิดปกติ แพทย์ก็จะนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาร่วมกับประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกาย และผลการสืบค้นเพิ่มเติม การแปลผลความผิดปกตินั้นจึงไม่ใช่เพียงแค่ผลการอ่านเอกซเรย์ปอดเท่านั้น ดังนั้นเมื่อท่านเห็นผลการตรวจที่ผิดปกติอย่าเพิ่งตกใจ แนะนำให้ท่านปรึกษาแพทย์ก่อน