คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน เมื่อคุณพบแพทย์ ตอนที่ 8 การเจาะตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Lumbar puncture)

การสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อให้ได้การวินิจฉัยว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นเป็นจากสาเหตุใดนั้น โรคทางระบบประสาทส่วนหนึ่งต้องอาศัยผลการตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (cerebrospinal fluid : CSF) วิธีการได้มาของ CSF นั้น แพทย์ต้องทำการเจาะหลัง (lumbar puncture : LP) เพื่อให้ได้ CSF ออกมาส่งตรวจ การตรวจ LP นั้น ผู้ป่วย ญาติและคนทั่วไปมักไม่เข้าใจว่าคืออะไร และมักจะเกิดความกังวลใจอย่างยิ่งว่าการตรวจ LP นี้ก็น่าจะเป็นการผ่าตัดอย่างหนึ่ง เพราะมีคำว่าเจาะ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นจึงไม่อนุญตให้แพทย์เจาะตรวจ อาจนำมาซึ่งการรักษาที่ล่าช้าหรือให้การวินิจฉัยโรคไม่ได้ และส่งผลเสียต่อผู้ป่วยได้ ดังนั้นเราจึงต้องมาทำความเข้าใจการเจาะหลังนั้น คืออะไร ทำอย่างไร อันตรายที่ว่าน่ากลัวนั้นจริงหรือไม่

การเจาะหลัง คือ การที่แพทย์ใช้เข็มเจาะขนาดเล็กแทงหรือเจาะเข้าไปบริเวณหลังระดับเอว รอยต่อระหว่างกระดุกเอวลำดับที่ 1กับ 2 หรือ 2 กับ 3 โดยแพทย์จะทำการฉีดยาชาก่อนเจาะ ดังนั้นผู้ที่ถูกเจาะจะเจ็บเล็กน้อยในขณะที่แพทย์ฉีดยาชาเท่านั้น แพทย์จะค่อยๆแทงเข็มเข้าไปจนกระทั่งได้นำ CSF ออกมา ต่อจากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องมือในการตรวจวัดระดับความดันของ CSF ว่ามีค่าเท่าใด แล้วก็มีการเก็บน้ำ CSF ใส่ขวดปลอดเชื้อเพื่อนำมาส่งตรวจหาความผิดปกติต่อไป ขั้นตอนต่อไปคือการวัดความดัน CSF อีกครั้งว่ามีค่าเท่าใด และค่อยๆดึงเข็มออก ก็เสร็จสิ้นการตรวจดังกล่าว โดยทั่วไปแล้วใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ขึ้นกับความยากง่ายในการตรวจแต่ละคน

การตรวจนั้นมีอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ จริงแล้วต้องบอกว่าการตรวจดังกล่าวมีความปลอดภัยมากๆ แต่ก็พบภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง เช่น การปวดศีรษะภายหลังการเจาะหลัง เนื่องจากมีการรั่วของน้ำ CSF ออกมา ผู้ป่วยอาจปวดศีรษะเวลาลุกขึ้นนั่งหรือยืน เวลาไอจามแรง เป็นต้น ซึ่งก็ไม่รุนแรงและมักหายได้เอง โดยไม่ต้องให้การรักษาเพิ่มเติม เพียงแค่การนอนพัก ดื่มน้ำมากขึ้นและทานยาแก้ปวดเวลามีอาการ ผลแทรกซ้อนอื่น ๆที่พบน้อยมาก เช่น การติดเชื้อบริเวณที่เจาะ การติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง และการเกิดภาวะกดทับก้านสมอง เนื่องจากความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูงมาก เมื่อเจาะตรวจน้ำ CSF แล้วมีรูรั่วเกิดขึ้นในเยื่อหุ้มสมองชั้นดูราหรือเกิดการเลื่อนไหลของสมองใหญ่ลงมากดทับก้านสมอง ภาวะนี้พบได้น้อยมากๆ แต่มีอันตรายสูงมาก ซึ่งแพทย์ก็จะมีความระมัดระวังและมีการเฝ้าระวังภายหลังการเจาะหลังของผู้ป่วยทุกรายอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือถ้าเกิดก็จะได้ให้การแก้ไขได้ทันเวลา รวดเร็ว ผู้ป่วยก็จะปลอดภัย

ถ้าไม่ตรวจจะก่อให้เกิดผลเสียหรือไม่ การเจาะตรวจน้ำ CSF โดยส่วนใหญ่แล้วมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นเท่านั้น แพทย์จึงจะทำการตรวจดังกล่าว ข้องบ่งชี้ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยภาวะติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง การระบายน้ำ CSF เพื่อลดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะ การวินิจฉัยและรักษาภาวะโพรงน้ำในสมองโตแต่มีความดันในโพรงกะโหลกศีรษะปกติ (normal pressure hydrocephalus : NPH) รวมทั้งการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าโพรงไขสันหลัง ดังนั้นถ้าไม่ได้ทำการเจาะหลังก็อาจส่งผลต่อการรักษาได้

ทำไมผู้ป่วยหรือญาติถึงไม่อนุญาตให้แพทย์ทำการเจาะหลัง เหตุก็เพราะก่อนทำการเจาะหลังนี้แพทย์จะต้องขออนุญาตและให้มีการลงนามกำกับว่าได้อธิบายให้ผู้ป่วยหรือญาติได้เข้าใจถึงผลดี ผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงเกิดการเข้าใจที่ผิดพลาดจากการอธิบายของแพทย์ได้ เพราะเวลาที่แพทย์อธิบายนั้น จะต้องระบุว่าข้อดีคืออะไร ข้อเสียคืออะไร ซึ่งตรงข้อเสียนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยและญาติกังวลว่าเมื่อมีโอกาสเกิดข้อเสียนี้แล้วจะเจาะตรวจทำไม เมื่อผู้ป่วยหรือญาติไม่อนุญาตแพทย์ก็เจาะตรวจไม่ได้ ดังนั้นการอธิบายก็ต้องอาศัยประสบการณ์ของแพทย์และคำอธิบายที่ชัดเจน บ่งบอกด้วยว่าถ้าไม่ได้ทำการเจาะตรวจแล้วจะมีข้อเสียอะไร โอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนนั้นพบบ่อย มากน้อยแค่ไหนด้วย เพราะถ้าบอกเพียงว่ามีโอกาสเกิด ก็จะทำให้เกิดการเข้าใจในข้อมูลที่ให้ได้

แพทย์และผู้ป่วย ญาติ จึงต้องมีเวลาในการพูดคุยกัน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปในทางที่ดี