คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน การตรวจวัดระดับยากันชัก

การตรวจวัดระดับยากันชักนั้น เป็นการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเฉพาะผู้ป่วยที่ทานยากันชักเท่านั้น ผู้ที่ไม่ได้ทานยากันชักก็ไม่จำเป็นต้องตรวจชนิดนี้ ตรวจได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วปัญหาในการตรวจนั้นมีไม่มากนักเหมือนกับการตรวจอื่นๆ แต่ก็ยังพบประเด็นที่อยากเล่าให้ฟังดังนี้

ประการแรก คือ การเจาะตรวจวัดระดับยากันชักนั้นไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร ผู้ป่วยส่วนใหญ่นั้นมักจะเข้าใจว่าถ้ามีการเจาะเลือดตรวจอะไรก็ตามต้องให้งดน้ำ งดอาหารทุกครั้ง การที่ต้องงดน้ำ งดอาหารก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ทานยากันชักไปด้วย ก็เลยเกิดอาการชักระหว่างรอตรวจเลย ซึ่งก็พบมาหลายรายแล้ว

ประการต่อมา การตรวจวัดระดับยากันชักนั้นควรตรวจในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ได้ค่าที่ได้นั้นเป็นค่าของยาที่ทานในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ว่าระดับยาที่ได้นั้นมีค่าสูงหรือต่ำกว่าครั้งก่อนหน้านี้ การตรวจวัดระดับยาสามารถทำได้ทั้งการตรวจระดับยาที่ขึ้นสูงสุด (peak of onset) หรือระดับยาช่วงต่ำสุด (trough level) แต่การเจาะตรวจวัดระดับยาทุกครั้งควรเป็นค่าเดียวกัน ดังนั้นผู้ป่วยก็ควรมาตรวจในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น ช่วงเช้า จะเป็นการตรวจที่สะดวกที่สุดเพราะผู้ป่วยมักจะทานยาก่อนนอน และหลังอาหาร ดังนั้นการตรวจตอนเช้าก็จะเป็นระดับยาช่วงต่ำสุด ซึ่งจะทำให้แพทย์ทราบว่าระดับยาที่ต่ำนั้นมีค่าเท่าใด อยู่ในระดับค่าที่ต้องการหรือไม่ และจำเป็นต้องปรับเพิ่มขนาดยา หรือต้องเพิ่มยาชนิดที่สอง เพื่อให้การควบคุมการชักมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ประการต่อมา คือ การตรวจวัดระดับยานั้น ไม่ได้ตรวจในผู้ป่วยที่ทานยากันชักทุกคน ทั่วไปแล้ว แพทย์จะส่งตรวจต่อเมื่อต้องการตรวจสอบระดับยาในผู้ที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ จะได้ทราบว่าขนาดยาที่ทานอยู่นั้นเพียงพอหรือไม่ ถ้าระดับยาต่ำไป ก็จะได้เพิ่มขนาดยาที่ทานขึ้นอีก แต่ถ้าระดับยานั้นสูงมากเกือบจะเป็นพิษหรือเกินขนาด แพทย์ก็จะไม่ได้เพิ่มยากันชักอีก และจะได้หาวิธีให้การรักษาด้วยยากันชักชนิดอื่นๆ เช่น การเพิ่มขนาดยาชนิดที่ 2 หรือถ้าผลการตรวจพบว่าระดับยากันชักสูงเกินขนาด ซึ่งก็อาจเป็นสาเหตุของการชักได้ แพทย์ก็จะได้ลดขนาดยากันชักลงให้ได้ขนาดที่เหมาะสม

การตรวจวัดระดับยากันชักด้วยข้อบ่งชี้อื่นๆได้แก่ การตรวจวัดในกรณีผู้ป่วยที่ทานยากันชักมีการตั้งครรภ์ หรือในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ โรคไต ที่มีระดับโปรตีนที่ต่ำลงมาก และกรณีที่ทานยากันชักหลายชนิด หรือทานยากันชักร่วมกับยาชนิดอื่นๆที่มีการเกิดยาตีกันได้ (drug interaction) จึงมีความจำเป็นต้องประเมินระดับยากันชักเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากยาที่สูงเกินขนาดได้ง่าย

ประการสุดท้าย การตรวจวัดระดับยากันชักสามารถใช้ประเมินความสม่ำเสมอของการทานยากันชักได้ เพราะบางครั้งแพทย์ก็ไม่สามารถประเมินได้ว่าผู้ป่วยทานยาครบถ้วนหรือไม่ สอบถามจากผู้ป่วยก็บอกว่าทานยาครบ แต่พอตรวจวัดระดับยากลับไม่พบระดับยาเลย แบบนี้ก็บอกได้ว่าการทานยาคงไม่ครบแน่นอน ดังนั้น ประโยชน์ของการตรวจวัดระดับยาก็มีหลายประการดังที่กล่าวไปแล้ว