คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน การตรวจอัลตราซาวด์

การตรวจอัลตราซาวด์เป็นการตรวจสืบค้นทางการแพทย์อีกอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์มาก และมีการตรวจกันอย่างกว้างขวาง บางคลินิกก็มีการบริการตรวจอัลตราซาวด์ ราคาก็ไม่แพง ประมาณ 800-1000 บาท จึงทำให้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางของผู้ป่วย จึงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของผู้ป่วยจำนวนมาก กล่าวคือ ถ้ามาพบแพทย์ก็ต้องการให้แพทย์ทำการตรวจอัลตราซาวด์ให้ ไม่ว่าจะมีอาการผิดปกติอะไร เช่น ปวดท้องก็ตรวจท้อง ปวดหัวก็ตรวจที่หัว ปวดหลังก็ตรวจที่หลังเป็นต้น ซึ่งเป็นการสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพอย่างมาก ดังนั้นผมจึงอยากเล่าในสิ่งที่ถูกต้องให้ฟังเกี่ยวกับการตรวจอัลตราซาวด์

การตรวจอัลตราซาวด์นั้นอาศัยเทคนิคการปล่อยคลื่นเสียงที่เหมาะสมจากเครื่องมือที่มีหัวตรวจ(probe) ผ่านลงไปในอวัยวะที่ต้องการตรวจและมีเครื่องมือที่เป็นตัวรับการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงนั้นกลับมา ต่อจากนั้นมีการบันทึกคลื่นเสียงนั้นออกมาเป็นภาพของคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมา โดยในแต่ละอวัยวะหรือรอยโรคที่แตกต่างกัน ก็จะมีความแตกต่างกันของเสียงสะท้อนที่กลับออกมาเพราะในแต่ละอวัยวะและชนิดของรอยโรคก็มีความหนาแน่นของอวัยวะนั้นๆไม่เหมือนกัน โดยหลักการนี้ก็จะได้ภาพขึ้นมา ทำให้แพทย์สามารถศึกษาจากภาพนั้นๆ ว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของอวัยวะส่วนใด และน่าจะมีพยาธิสภาพหรือเหตุของความผิดปกตินั้นเป็นน้ำ เป็นก้อนเนื้อ หรือเป็นรอยโรคอื่นๆ แต่การตรวจอัลตราซาวด์นั้นก็มีข้อจำกัดในกรณีที่อวัยวะนั้นมีอากาศหรือลม/อากาศเป็นองค์ประกอบหลัก(เช่น ปอด) หรือมีอวัยวะที่มีลมขวางอยู่ รวมทั้งอวัยวะที่มีกระดูกแข็งขวางอยู่ก็ไม่สามารถสร้างภาพได้ดี(เช่น กะโหลก) เพราะการสะท้อนกลับของเสียงได้ไม่ดี หรือคลื่นเสียงนั้นไม่สามารถผ่านไปได้ หรือในอวัยวะที่มีการขยับ เคลื่อนไหวตลอดเวลาก็จะตรวจและแปลผลยากขึ้น(เช่น ลำไส้) นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความชำนาญของการตรวจด้วย เพราะถ้ามีการวางตำแหน่งของหัวตรวจที่ไม่ถูกตำแหน่ง ถูกมุม ก็จะทำให้ผลการตรวจที่ได้นั้นมีการผิดพลาดได้

ด้วยสาเหตุข้างต้น ผมจึงได้พบการตรวจอัลตราซาวด์ที่ไม่ได้ประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะ ปวดหลังที่ผู้ป่วยมาพบผม ได้รับการตรวจอัลตราซาวด์หัวสมองมาด้วย ซึ่งไม่น่าจะมีการตรวจดังกล่าวเลย แต่ก็พบได้บ่อยๆ ผมเคยสอบถามผู้ป่วยหลายต่อหลายคนว่า ทำไมปวดหัวแล้วต้องตรวจอัลตราซาวด์ด้วย ผู้ป่วยก็บอกแบบซื่อๆว่า “ก็ผมเห็นคนที่ปวดท้องก็ไปตรวจอัลตราซาวด์แล้วก็หายปวดท้อง เมื่อผมปวดหัวมาตั้งนานก็เลยอยากหายบ้าง จึงไปหาหมอท่านที่ตรวจอัลตราซาวด์เก่งๆท่านเดียวกับที่ทำอัลตราซาวด์ท้องแล้วหายปวดท้อง พอไปพบหมอผมก็บอกท่านเลยว่าอยากทำอัลตราซาวด์ท้อง อัลตราวด์หัว อัลตราซาวด์หลังท่านก็ทำตามที่ผมขอ ไม่เห็นท่านจะอธิบายอะไรเลย” ผมก็เลยพูดไม่ออก จึงได้ถามต่อว่า แล้วตรวจอัลตราซาวด์พบอะไรบ้างหรือเปล่า ผู้ป่วยท่านนั้นก็ตอบต่อว่า “ หมอบอกผมว่าเป็นพยาธิในหัวครับ หมอเอาคลื่นอัลตราซาวด์ฆ่าพยาธินั้นไปแล้ว รับรองว่าหายปวดหัวแน่ๆ แล้วผมก็หายจริงๆด้วย หมอแกเก่งจริง” ผมก็อึ้งไปอีก แล้วพอตั้งสติได้ ก็เลยถามต่อว่าแล้วทำไมมาหาหมออีกละ คราวนี้ผู้ป่วยนิ่งไปบ้าง แล้วก็ตอบว่า “หลังจากที่ผมหายไปหลายเดือนก็มีอาการปวดหัวขึ้นมาใหม่ ไปหาหมอท่านเดิมอีก ทำอัลตราซาวด์อีกครั้ง แต่แปลกครั้งนี้ไม่หาย ก็เลยมาหาหมอนี้และครับ” ผมได้พยายามนึกทบทวนหาความรู้ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์และหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าการตรวจอัลตราซาวด์หัวทำได้อย่างไร และพบพยาธิที่หัว ฆ่าพยาธิได้ด้วย ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีความจริงเลยแม้แต่นิดเดียว แต่เหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมจึงอยากบอกกับผู้อ่านทุกท่านว่าการตรวจอัลตราซาวด์ที่ได้ประโยชน์จริงๆนั้น ได้แก่

  • การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องและระบบไต เพื่อตรวจดูว่ามีความผิดปกติที่ตับ ไต ต่อมน้ำเหลือง ตับอ่อน หรือก้อนในช่องท้อง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือไม่ มีแผลที่ลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่หรือไม่
  • การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจหรือการตรวจเอ็คโคคาร์ดิโอแกรม (echocardiogram) สามารถบอกรายละเอียดของการทำงานของหัวใจ ทั้งการหดตัว คลายตัว กำลังการบีบตัว สภาพของลิ้นหัวใจว่ามีการรั่วหรือตีบของลิ้นหัวใจหรือไม่ มีน้ำในช่องว่างระหว่างหัวใจกับเยื่อหุ้มหัวใจหรือไม่ ซึ่งการตรวจนี้ก็ต้องทำโดยอายุรแพทย์ กุมารแพทย์ผู้ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี หรือแพทย์ผู้ชำนาญด้านโรคหัวใจโดยเฉพาะ
  • การตรวจอัลตราซาวด์ช่องเชิงกราน (pelvic cavity) เพื่อประเมินอวัยวะในอุ้มเชิงกราน ได้แก่ มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ช่องคลอด ต่อมน้ำเหลืองว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และมีก้อนเนื้อหรือน้ำขังอยู่ในอุ้งเชิงกรานหรือไม่ รวมทั้งการตรวจประเมินความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ ตรวจเพื่อระบุเพศของทารกในครรภ์ การตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์
  • การตรวจอัลตราซาวด์ช่องอก (thoracic cavity) เพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติของอวัยวะในช่องอก เนื้อปอด เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง หลอดเลือดใหญ่ในช่องอก รวมทั้งหัวใจด้วย ว่ามีอวัยวะใดมีความผิดปกติบ้าง หรือมีก้อนเนื้อ หนอง การขังของน้ำอยู่ในช่องอก เยื่อหุ้มปอดหรือไม่
  • การตรวจอัลตราซาวด์หัวนั้นทำได้เฉพาะในเด็กทารกหรือเด็กเล็กที่ยังไม่มีการปิดของกระดูกกะโหลกศีรษะ คือมีช่องว่างพอที่จะให้หัวตรวจนั้นปล่อยคลื่นเสียงลงไปในโพรงกะโหลกศีรษะได้ เพื่อประเมินอวัยวะที่อยู่ในโพรงกะโหลกศีรษะนั้นๆว่ามีอะไรบ้างที่ผิดปกติ หรือมีก้อนเนื้อ น้ำ หนองขังอยู่หรือไม่
  • นอกจากนี้ก็มีการตรวจอัลตราซาวด์ในการประเมินสภาพของก้อนเนื้อต่างๆหรือก้อนฝีหนองในอวัยวะต่างๆที่สามารถตรวจได้ รวมทั้งการใช้กำหนดตำแหน่ง (ultrasound guide) ในการเจาะตรวจระบายหนอง น้ำที่ขังอยู่ ทั้งเพื่อการระบายออก (drainage) หรือเก็บสิ่งส่งตรวจ (specimens collection) นั้น หรือตัดชิ้นเนื้อ (biopsy)

ดังนั้นการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องแล้วบอกได้ว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือการตรวจอัลตราซาวด์หัวในผู้ใหญ่นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะมีข้อจำกัดของการตรวจอัลตราซาวด์ ยกเว้นจะใช้เครื่องมือรุ่นพิเศษเท่านั้นที่ออกแบบมาเฉพาะการทำอัลตราซาวด์หัวของผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ผู้ป่วย ประชาชนทั่วไปควรเข้าใจในประเด็นนี้ ทางแพทยสภาเอง รวมถึงสมาคมต่างๆของแพทย์ก็มีการแนะนำ ควบคุม เพื่อให้การตรวจต่างๆทางการแพทย์เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์