คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน การตรวจวัดการทำงานของตับและไต

การตรวจเลือดที่มีการส่งตรวจบ่อยๆอีกชนิดหนึ่ง คือ การส่งตรวจวัดการทำงานของตับและไต การตรวจเลือดดังกล่าว ประชาชนทั่วไปจะรู้จักกันดีในการตรวจที่เรียกว่า บียูเอ็น (BUN:blood urea nitrogen),ครีอะตินีน (Creatinine:Cr) ซึ่งเป็นการตรวจวัดหน้าที่การทำงานของไต ส่วนการตรวจวัดการทำงานของตับนั้นมีการตรวจวัดหลายอย่าง ได้แก่ การตรวจวัดหน้าที่การผลิตของตับ ได้แก่ การตรวจวัดระดับของไขมันโคเลสเตอรอล (cholesterol), อัลบูมิน (albumin), โกลบูริน (globulin), ตรวจวัดหน้าที่การขับออกของตับ ได้แก่ บิลิรูบิน (bilirubin), อัลคาไลฟอตฟาเตส (alkaline phosphatase), และการตรวจสภาพว่ามีตับอักเสบหรือไม่ ได้แก่การตรวจวัดระดับของทรานสะมิเนสเอ็นไซม์ (transaminase enzyme) ได้แก่ ระดับของเอแอลที (ALT) และเอเอสที (AST) นอกจากนี้ยังมีการตรวจวัดระดับเกลือแร่ในร่างกาย ได้แก่ อิเล็คโตไลต์ (electrolyte) คือ เกลือโซเดียม (sodium) โปแตสเซียม (potassium) คลอไรด์ (chloride) ไบคาร์บอเนต (bicarbonate) เป็นต้น รวมทั้งการตรวจวัดระดับ แคลเซียม (calcium) แมกนีเซียม (magnesium) ฟอตเฟส (phosphate) ซึ่งการตรวจบางอย่างนั้นต้องบอกเลยว่าไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจเช็คในโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น การตรวจวัดระดับเกลือแร่ในร่างกาย ถ้าไม่ได้มีโรคประจำตัวหรือทานยาบางชนิดที่มีผลต่อระดับเกลือแร่ต่างๆเหล่านั้น ดังนั้นการตรวจนี้ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย การตรวจการทำงานหน้าที่ของตับและไตนั้นมีความเหมาะสมที่จะต้องตรวจเช็คเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเฝ้าระวังที่ดีว่าเราจะมีปัญหาการทำงานของตับ ไตหรือไม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าต้องตรวจทุก 3 เดือน เหตุการที่ผมพบคือผู้ป่วยร้องขอที่จะตรวจเลือดดังกล่าวทุกๆครั้งที่มาพบแพทย์ เพราะผู้ป่วยที่ทานยารักษาโรคประจำตัว ก็จะมีความคิดว่าการทานยาหลายๆชนิดเป็นประจำในระยะยาวคงส่งผลต่อการทำหน้าที่ของตับและไต ซึ่งจริงแล้วยาทุกชนิดไม่ได้ส่งผลเสียต่อไต และตับ มีเฉพาะยาบางชนิดเท่านั้นที่มีความจำเป็นต้องส่งตรวจสภาพการทำงานของตับและไตอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสิ่งนี้แพทย์เองก็ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในด้านการให้บริการที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้รับบริการ

ปัญหาต่อมาที่ผมพบ คือ เมื่อผู้ที่รับการตรวจเช็คสุขภาพได้รับรายงานผลการตรวจสุขภาพแล้วระบุว่ามีการทำงานของตับ ของไตผิดปกติ ท่านควรต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้การตรวจประเมินเพิ่มเติม ให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป หรือบางรายงานผลการตรวจสุขภาพระบุว่าท่านเป็นโรคไตบกพร่อง โรคตับอักเสบ พอได้รับรายงานผลดังกล่าวก็เกิดการตกใจอย่างมาก กลัวไปต่างๆนาๆ ว่าจะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ โรคมะเร็งตับ โรคไตวายต้องฟอกเลือด ล้างไตอะไรวุ่นวายใจไปหมด ซึ่งจริงๆแล้วท่านอาจไม่ได้เป็นอะไรที่รุนแรงเลย แต่ด้วยระบบการรายงานผลการตรวจร่างกายในทุกโรงพยาบาลนั้น ขั้นตอนการตรวจสุขภาพคือจะทำการเจาะตรวจเลือด เอกซเรย์ ตรวจปัสสาวะ อุจจาระหรืออื่นๆ ก่อนพบแพทย์ โดยให้ผู้ป่วยหรือผู้รับการตรวจนั้นเป็นผู้เลือกโปรแกรมเองตามความต้องการหรือโปรแกรมของบริษัทต่างๆที่ให้เป็นสวัสดิการ ต่อจากนั้นจึงพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและซักประวัติทั่วไป โดยในการพบแพทย์นั้นไม่มีผลการตรวจเลือด เอกซเรย์ประกอบเลย แต่ผลการตรวจนั้นๆจะสรุปเป็นรายงานส่งไปที่บ้านหรือที่บริษัท หน่วยงาน เป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญคือการรายงานนั้นใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นผู้ประมวลผลและคำแนะนำแบบอัตโนมัติโดยไม่ได้มีการคำนึงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นว่าจริงหรือไม่ เพราะไม่ได้ใช้อาการ หรือผลการตรวจร่างกายประกอบ เป็นการรายงานผลจากค่าปกติที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ตั้งค่าไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าผลการตรวจที่ออกมานั้นจะมีค่าเกินค่าปกติเท่าไหร่ก็ตาม ก็จะมีการรายงานผลออกมาเหมือนกันหมด ตรงนี้เองที่ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความเข้าใจผิดพลาดไปได้ว่าตนเองเจ็บป่วยเป็นโรคตับ โรคไต จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าผู้อ่านทุกท่านต้องทำความเข้าใจ และถ้าได้รับผลรายงานการตรวจสุขภาพที่ระบุว่าท่านมีผลการตรวจที่ผิดปกติไปนั้น อย่าเพิ่งตกใจหรือตีโพยตีพายไปว่าเป็นโรคที่ร้ายแรง จงเข้าใจว่าการตรวจสุขภาพนั้นเพื่อให้เราตะหนักว่าการป้องกันหรือการส่งเสริมสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการซ่อมแซมสุขภาพ ดังนั้นท่านจงมีความตะหนักที่ดีในการดูแลสุขภาพ แต่อย่าตระหนกตกใจเกินเหตุกับผลการตรวจเบื้องต้นเท่า