คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน: การตรวจหลอดเลือดสมอง

การตรวจหลอดเลือดสมองเป็นการตรวจอีกชนิดหนึ่งที่ในปัจจุบันมีการตรวจเพิ่มมากขึ้นทั้งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และการตรวจสุขภาพสมอง ซึ่งการตรวจในกรณีหลัง คือ การตรวจสุขภาพสมองเพื่อประเมินว่าจะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาตนั้นมีประโยชน์หรือไม่ ถ้ามีควรทำเมื่อใด ต้องตรวจทุกคนหรือไม่

สิ่งที่ผมได้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์หรือทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอกชนหลายๆแห่งว่ามีชุดตรวจสุขภาพสมองด้วย การตรวจสุขภาพสมองที่นิยมกันคือการตรวจสภาพหลอดเลือดสมองว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ปกติแล้วการตรวจหลอดเลือดสมองสามารถทำได้ 3 วิธีใหญ่ คือ

  1. การตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือตรวจด้วยเอมอาร์ไอหลอดเลือดสมอง
  2. การตรวจด้วยการสวนหลอดเลือดและฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือด
  3. การตรวจด้วยอัลตราซาวด์หลอดเลือดบริเวณคอ
ทั้งสามวิธีนี้มีข้อดี และข้อด้อยที่แตกต่างกัน แพทย์จะเลิกการส่งตรวจด้วยวิธีไหนนั้น ก็ขึ้นกับความจำเป็นที่ต้องการทราบรายละเอียด และแม่นยำมากน้อยแค่ไหน สงสัยโรคอะไร ก็ตรวจเช็คสภาพหลอดเลือดสมอง ที่มีการตรวจกันบ่อยๆในปัจจุบันคือการตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดบริเวณคอ (carotid doppler sonography)

คำถามที่สำคัญคือ การตรวจดังกล่าวสามารถบอกสภาพของหลอดเลือดสมองได้หรือไม่ การตรวจดังกล่าวสามารถตรวจว่าหลอดเลือดสมองเฉพาะส่วนที่อยู่นอกสมอง (extracranial part) ได้ แต่ถ้าเป็นหลอดเลือดสมองส่วนที่อยู่ในสมองนั้น ไม่สามารถตรวจได้ด้วยการตรวจแบบนี้ ยกเว้นต้องใช้เครื่องมือเสริมและเทคนิคพิเศษเพิ่มเติม

คำถามต่อมาคือใครบ้างที่จำเป็นต้องตรวจ ไม่ใช่ทุกคนแน่นอน การตรวจที่ก่อให้เกิดประโยชน์คือการพิจารณาเฉพาะผู้ที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยว่าจะมีการตีบแคบหรืออุดตันหลอดเลือดบริเวณคอ (carotid artery) หรือตรวจด้วยการฟังหลอดเลือดบริเวณคอแล้วฟังได้เสียงผิดปกติ เข้าได้กับการตีบแคบของหลอดเลือดบริเวณคอดังกล่าว ผู้ป่วยที่มีการตีบของหลอดเลือดหัวใจและได้มารับการตรวจยืนยันว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์ก็จะตรวจหลอดเลือดสมองต่อด้วย

การตรวจเพื่อเช็คสภาพหลอดเลือดในคนปกติตามกลุ่มอายุ การตรวจในกลุ่มญาติของผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต หรือคนที่อยากรู้เพื่อที่จะได้ป้องกันไม่ให้เป็นโรคอัมพาตนั้นนั้นไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ

การที่เราต้องการจะป้องกันตนเองให้ห่างจากโรคอัมพาตนั้น ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ท่านทำ 3 ต้อง คือ ต้องตรวจเช็คสุขภาพประจำปีที่เหมาะสม, ต้องรักษาโรคประจำตัวที่มีอยู่ให้ดีที่สุด และต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ, และ 4 ไม่ คือ ไม่ควรสูบบุหรี่ ไม่อ้วน ไม่เครียด และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ท่านก็จะห่างจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงได้เช่นกัน โดยที่ท่านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพหลอดเลือด