คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน: การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด

การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นการตรวจเลือดอีกชนิดหนึ่งที่ตรวจบ่อยๆ เพราะผู้ป่วยเบาหวานมีเป็นจำนวนมาก และผู้ที่กลัวว่าตนเองจะเป็นเบาหวานก็ต้องการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายมาก เพียงเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเจ็บเพียงนิดเดียว สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน ราคาการตรวจก็ถูกมาก ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ซับซ้อน น่าจะตรงไปตรงมา ลองติดตามดูครับว่ามีการเข้าใจผิดอะไรบ้างที่ผมพบมา เพื่อประโยชน์ของการดูแลสุขภาพลองติดตามบทความนี้ครับ

การตรวจวัดระดับน้ำตาลเมื่อจะไปพบแพทย์ กลัวแพทย์บอกว่าผลระดับน้ำตาลไม่ดี อาจต้องถูกดุ เพราะที่ผ่านมาก็ถูกดุทุกครั้ง ครั้งนี้ไม่อยากถูกดุแล้ว อยากได้รับคำชมบ้างจึงพยายามที่จะทำให้ค่าระดับน้ำตาลดี จึงควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดสุดๆก่อนที่จะมาพบแพทย์ 2-3 วัน พอเช้าวันที่มาเจาะตรวจระดับน้ำตาลก็งดอาหารมานานมากๆๆ เพื่อให้ระดับน้ำตาลดูดี ซึ่งผลก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ค่าที่ตรวจได้อยู่ในเกณฑ์ดีมาก พอเข้าพบแพทย์ก็ได้รับคำชมจากแพทย์ว่าดูแลตนเองได้ดีมาก ยิ้มจนหน้าบาน พอกลับมาบ้านก็จัดการทานอาหารที่ต้องควบคุมทุกชนิดไม่ว่าของหวาน ขนม อาหารที่มีกะทิ น้ำตาลทานทุกชนิดอย่างสบายใจ พอถึงเวลาที่จะพบแพทย์ครั้งต่อไป ก็ทำตัวดีแบบเดิม คือ ทำตัวดีเพียง 2-3 วันก่อนที่จะพบแพทย์นั้น แต่คราวนี้ผลการตรวจหลอกแพทย์ไม่ได้แล้วครับ เพราะแพทย์ได้สั่งเจาะตรวจวัดระดับน้ำตาลปกติ และน้ำตาลเอวันซี(ฮีโมโกบิลเอวันซี: Hemoglobin A1C)ด้วย ซึ่งน้ำตาลเอวันซีนี้จะสามารถบอกว่าการควบคุมน้ำตาลที่ผ่านมา 2-3 สัปดาห์นั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นผลการตรวจที่ออกมาครั้งนี้ คือ ค่าน้ำตาลปกติดีมาก แต่ค่าน้ำตาลเอวันซีสูงมาก แพทย์ก็เลยทราบว่าผู้ป่วยควบคุมน้ำตาลไม่ดีจริง ดีเพียงแค่ช่วงก่อนมาพบแพทย์เท่านั้น ความเลยแตก ครั้งนี้แพทย์ก็เลยต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบโดยละเอียดว่าการควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีนั้น ต้องควบคุมให้ดีอย่างต่อเนื่องการที่ควบคุมดีเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นโทษด้วยที่ทำให้แพทย์ไม่ทราบว่าผู้ป่วยควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี จึงไม่ได้ให้คำแนะนำที่ถูกต้องและไม่ได้ปรับการรักษาให้ดีด้วย ผลที่เกิดขึ้น คือ ผู้ป่วยก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่ควบคุมระดับน้ำตาลที่ไม่ดี เช่น เบาหวานเข้าไต เข้าตา หรือเส้นประสาทอักเสบ

การตรวจคัดกรองว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ จริงแล้วไม่ยากเลยก็คือการตรวจวัดระดับน้ำตาลในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการสงสัยว่าจะเป็นเบาหวาน เช่น อ่อนเพลีย ทานจุ ดื่มน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดลง ถ้าตรวจวัดระดับน้ำตาลสูงเกิน 126 มก.ต่อ ดล.ก็บอกได้ว่าเป็นเบาหวาน แต่คนส่วนหนึ่งยังเข้าใจว่าถ้าเป็นเบาหวานจะต้องมีมดขึ้นปัสสาวะ ซึ่งไม่ถูกต้อง จึงทำให้การวินิจฉัยโรคเบาหวานล่าช้าไป เพราะต้องรอว่ามีมดมาตอมปัสสาวะก่อนจึงมาพบแพทย์ ดังนั้นถ้าท่านสงสัยว่าตนเองจะเป็นเบาหวานหรือไม่ ก็เพียงแค่งดอาหารประมาณ 8 ชั่วโมง แล้วเจาะเลือดตรวจ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะตรวจเลือดปลายนิ้วหรือเจาะเลือดตรวจจากหลอดเลือดดำที่แขนบริเวณข้อพับก็ได้ สามารถให้ผลการวินิจฉัยแม่นยำใกล้เคียงกัน

ประเด็นต่อมาคือการควบคุมระดับน้ำตาล เนื่องจากผู้ป่วยมีเครื่องเจาะตรวจเลือดจากปลายนิ้ว สามารถเจาะตรวจได้ง่าย ราคาถูก จึงก่อให้เกิดการใช้เครื่องมือนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับการควบคุมระดับน้ำตาลถ้าใช้และแปลผลได้ถูกต้อง ปัญหาคือการใช้เครื่องมือถูกต้อง แต่การปรับการรักษากลับไม่ถูกต้อง เช่น เจาะเลือดได้ผลดีมากในช่วงก่อนทานอาหารเช้า ก็ทำให้ไม่ทานยาควบคุมเบาหวานในวันนั้นไป พอช่วงเย็นระดับน้ำตาลสูงมากขึ้นกว่าเดิมก็เลยทานยาเพิ่มขึ้นอีก ที่ถูกต้อง คือ ต้องทานยาลดน้ำตาล จะไม่ทานยาก็ต่อเมื่อผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์น้ำตาลต่ำและมีอาการน้ำตาลต่ำด้วย ได้แก่ หน้ามืด หิว ใจสั่น เหงื่อแตกหรือฝันร้าย จึงงดยาในมื้อนั้นแล้วก็ควรปรึกษาแพทย์ด้วยว่าควรต้องปรับเปลี่ยนยาที่ทานอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้น้ำตาลสูงๆ ต่ำๆสลับกันไปมาก็จะไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยเลย

ประเด็นต่อมาคือการทานยาควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งจะต้องทานยาก่อนอาหาร ปัญหาที่พบบ่อยมากก็คือ การลืมทานยาก่อนอาหาร พอทานอาหารไปแล้วจึงคิดได้ว่าลืมทานยา การแก้ไขการลืมทานยาน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ลืม เช่น การตั้งเวลาเตือนการทานยาก่อนอาหาร การนำถุงยามาวางไว้ที่โต๊ะอาหารก่อนทานอาหารทุกครั้ง เพื่อที่จะได้ไม่ลืม แต่ถ้าลืมจริงๆก็สามารถทานยาก่อนอาหารนั้นมาทานหลังอาหารได้ ถึงแม้ยาจะออกฤทธิ์ได้ไม่ดีก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทานยาเลย อย่างไรก็ดีควรหาทางป้องกันไม่ให้ลืมทานยาจะดีที่สุด