คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน: การตรวจวัดระดับไขมันในเลือด

การตรวจวัดระดับไขมันในเลือดเพื่อประเมินว่าผู้ป่วยหรือคนทั่วไปมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าค่าปกติหรือไม่ การตรวจไขมันในเลือดก็ดูจะตรงไปตรงมาไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นไปตามที่คิดครับ ผมพบปัญหาที่ต้องชี้แจงให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน มิฉะนั้นการตรวจวัดระดับไขมันก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่อาจก่อให้เกิดโทษด้วย ลองติดตามดูครับ

ประการที่ 1 การตรวจเลือดต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนตรวจเลือดประมาณ 8 ชั่วโมง เรื่องที่เกิดขึ้นมี ดังนี้ กรณีแรก คือ การงดน้ำ งดอาหารนั้นทำให้ผู้ที่เข้มงวดมากในการปฏิบัติก็ไม่ยอมทานยาที่ต้องทานเป็นประจำ ดังนั้นวันที่มาพบแพทย์ก็ทำให้มีความดันที่สูงขึ้นได้ เพราะไม่ทานยาลดความดันโลหิตที่ต้องทานเป็นประจำ เมื่อมาพบแพทย์ถ้าแพทย์ไม่ได้สอบถามให้ดีว่าทานยาลดความดันโลหิตมาหรือไม่ ก็อาจทำให้แพทย์ต้องเพิ่มยาลดความดันโลหิตโดยไม่จำเป็น และอาจก่อให้เกิดการใช้ยามากเกินความจำเป็นด้วย ผู้ป่วยบางรายมีความดันโลหิตขึ้นสูงมาก จนต้องถูกส่งขึ้นไปรักษาที่ห้องฉุกเฉิน เพราะตรวจพบว่ามีความดันโลหิตที่สูงมากจนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ที่ถูกต้องก็คือสามารถดื่มน้ำทานยาที่ต้องทานเป็นประจำได้ ยกเว้นยาลดน้ำตาลในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน เพราะถ้าทานยาหรือฉีดอินซูลิน แต่ไม่ได้ทานอาหาร ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้จากระดับน้ำตาลลดต่ำลงมาก

ประการที่ 2 คือการงดอาหาร งดน้ำโดยไม่ยอมทานอาหารหรือดื่มน้ำเลย ถึงแม้จะตรวจเลือดเสร็จแล้วก็ตาม ก็ทำให้ผู้ป่วยบางรายที่รอพบแพทย์นานก็อาจเกิดอาการเป็นลมได้ เนื่องจากงดน้ำ งดอาหารนานมากกว่า 10 ชั่วโมง ที่ถูกต้อง คือ หลังจากที่เจาะตรวจเลือดเสร็จเรียบร้อย ระหว่างรอผลการตรวจและรอพบแพทย์นั้น ก็สามารถทานอาหาร ดื่มน้ำ ทานยาที่ทานเป็นประจำได้เลย จะได้มานั่งรอพบแพทย์ด้วยความสบายใจ ไม่หิวข้าว ทำให้หงุดหงิด ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้

ประการที่ 3 การแปลผลการตรวจว่าระดับไขมันสูงหรือปกตินั้นเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เนื่องจากรายงานผลการตรวจที่ผู้ป่วยและแพทย์ได้รับนั้น จะมีการระบุไว้ด้วยว่าค่าปกติมีค่าในช่วงใด ทำให้ผู้ป่วยและญาติรวมทั้งคนทั่วไปที่ไปตรวจเช็คสุขภาพ เกิดความเข้าใจผิดได้ ที่ถูกต้องแล้วการแปลผลว่าระดับไขมันนั้นสูงหรือปกตินั้น แพทย์จะใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล เพราะแพทย์ต้องพิจารณาด้วยว่า แต่ละบุคคลนั้นมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับโอกาสการเกิดการแข็งตัวของหลอดเลือดด้วย เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ ระดับไขมันในเลือดที่แพทย์ต้องการ คือ ค่า LDL cholesterol หรือค่าไขมันโคเลสเตอรอล ชนิดไม่ดีนั้นต้องมีค่าต่ำกว่า 70 มก.ต่อ มล. ไม่ใช่ต่ำกว่า 150 หรือ 170 มก. ต่อ ดล. เหมือนกับคนที่ไม่มีโรคประจำตัวและประวัติครอบครัวเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการแข็งตัวของหลอดเลือด ดังนั้นค่าปกติหรือเป้าหมายที่ต้องการในแต่ละคนมีค่าแตกต่างกัน ไม่เหมือนกันทุกคน

ประการที่ 4 การเข้าใจว่าผู้ที่จะมีไขมันในเลือดสูงนั้นจะต้องเป็นคนอ้วนเท่านั้น คนผอมๆจะไม่มีโอกาสเป็นไขมันในเลือดสูง จริงแล้วภาวะไขมันในเลือดสูงนั้นไม่ได้เป็นเฉพาะในคนอ้วนเท่านั้น คนผอมหรือคนหุ่นปกติก็มีโอกาสเป็นภาวะไขมันในเลือดสูงได้ทุกคน และที่สำคัญภาวะไขมันในเลือดสูงนั้นไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ต้องตรวจวัดเท่านั้นจึงจะทราบ ไม่ใช่ว่าต้องมีอาการมึนศีรษะ วิงเวียนหรืออัมพาตถึงจะมีไขมันในเลือดสูง เพราะไขมันไปอุดตันหลอดเลือดสมอง

ประการที่ 5 การทานยาลดไขมันทานเพียงแค่ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้ปกติเท่านั้น พอได้ค่าที่ปกติแล้วก็หยุดทานยาลดไขมัน เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะที่ถูกต้องแล้วการทานยาลดไขมันนั้น จากการศึกษาพบว่าต้องทานเป็นระยะเวลานานหลายปี กว่าที่จะมีประโยชน์ในการปกป้องหรือลดโอกาสการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว ลดโอกาสการเกิดอัมพาต หลอดเลือดหัวใจตีบ นอกจากนี้ประโยชน์ของการใช้ยาลดไขมันยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การป้องกันสมองเสื่อม และออกฤทธิ์ต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือดได้ด้วย ดังนั้นการทานยาลดไขมันในเลือดนั้นจะต้องทานเป็นเวลาหลายปี

ประการที่ 6 การทานอาหารไม่มัน ทำไมยังมีไขมันในเลือดสูงได้ การที่ไขมันในเลือดสูงนั้นมีปัจจัยสองส่วน คือ การทานอาหารและการเผาผลาญไขมันในแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งเป็นจากการทานอาหารมันๆประมาณร้อยละ 30-40 เท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วมาจากปัจจัยภายในแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามการควบคุมอาหาร การปรับพฤติกรรมนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องทำควบคู่ไปกับการทานยาลดไขมันด้วยเสมอ