คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: โรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนจนสหรัฐอเมริกา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ในสหรัฐอเมริกาเมื่อจะมีนโยบายอะไรก็ตาม มักต้องมีการศึกษาที่เชื่อถือได้ในเรื่องนั้นๆ นำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานเสียก่อน รวมทั้งนโยบายที่จะดูแลผู้ป่วยที่มีฐานะอยากจนในเรื่องของโรคมะเร็ง เพื่อช่วยในการเข้าถึงการรักษา ที่รวมไปถึงการป้องกัน และการคัดกรองโรค

การศึกษานี้ได้จาก ทะเบียนมะเร็งของรัฐต่างๆทางเหนือในสหรัฐอเมริกา ทั้งหมด 16 รัฐ ที่รวมเรียกว่า NAACCR (North American Association of Central Cancer Registries) การศึกษารวมผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด 2.9 ล้านคน และครอบคลุมมะเร็งของทุกอวัยวะ เช่น ผิวหนัง เต้านม ลำไส้ ปอด ตับ ศีรษะและลำคอ รังไข่ อัณฑะ และ จำแนกความยากจนโดยใช้การสำรวจในช่วง ค.ศ. 2005-2009 โดย องค์กรชื่อ American Community Survey (ACS) คณะผู้ศึกษา นำโดย ดร. Boscoe, F และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ ชื่อ Cancer เมื่อ กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งผลการศึกษา พบว่า

โรคมะเร็งที่มีความสัมพันธ์กับความยากจนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ โรคมะเร็งคาโปซิ(Kaposi’s sarcoma), มะเร็งกล่องเสียง, มะเร็งอวัยวะเพศชาย, มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งตับ ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มโรคมะเร็งที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ชีวิตของกลุ่มคนที่มีฐานะยากจน เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี/HPV และการติดเชื้อเอชไอวี/HIV) การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด และภาวะขาดสารอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากนั้นยังพบว่า อัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสัมพันธ์กับความยากจนด้วย ยิ่งยากจน อัตราเสียชีวิตก็ยิ่งสูงขึ้น

แม้ว่าการศึกษานี้ จะทำในคนในสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นความจริงที่พบในประเทศเราด้วย ซึ่งสามารถนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการรณรงค์ต่อต้านโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี

บรรณานุกรม

  1. Boscoe,F. et al. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/cncr.28632/pdf [2014, Nov 15].