คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การแปลผลที่ได้จากการศึกษาวิจัย

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

วันนี้ ที่คุยเรื่องนี้ เพราะชอบที่จะนำเอางานการศึกษาทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งมาเขียนเล่าให้ฟัง จึงเกิดความกังวลว่า ผู้อ่านอาจนำไปปฏิบัติจนอาจเกินเลย จนเกิดผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ จึงขอถือโอกาสคุยให้ฟังถึง วิธีแปลผลจากงานการศึกษาต่างๆ

การศึกษาวิจัยที่เชื่อถือได้ จะต้องมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่ใช่ตัวชี้เดียว ตัวชี้วัดที่สำคัญพอๆกัน เช่น

  • แหล่งที่มาของข้อมูล ที่ต้องมีการแก้ไขในเรื่องตัวแปร และถ้ามีการเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ 2 กลุ่มขึ้นไป กลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มต้องมีความคล้ายคลึงกัน ในเรื่อง Demographic (เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ น้ำหนักตัว โรคประจำตัว)
  • สถาบันที่ทำการศึกษาว่า น่าเชื่อถือหรือไม่
  • รูปแบบการศึกษามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง
  • การศึกษาใช้หลักทางสถิติที่เป็นมาตรฐานหรือไม่
  • แหล่งทุนที่ได้รับ
  • จำนวนผู้ที่เข้ารับการศึกษามีปริมาณสูงพอหรือไม่
  • ติดตามผลการศึกษาได้นานพอหรือไม่
  • ให้ผลการศึกษาสอดคล้อง หรือ ขัดแย้งกับการศึกษาอื่นๆในเรื่องเดียวกันหรือไม่ อย่างไร
  • เป็นการศึกษาที่ลอกเลียนแบบผู้อื่นหรือไม่
  • การศึกษาที่มีจุดอ่อนอะไร มีข้อจำกัดทางการศึกษาอย่างไร

เมื่อประเมินทั้งหมดแล้ว จึงจะรู้ได้ว่า การศึกษานั้นๆ สามารถนำมาอ้างอิงได้ในระดับที่น่าเชื่อถือหรือไม่

ในblog นี้งานการศึกษาต่างๆที่นำมาเล่าให้ฟัง มีความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง ยังไม่ชัดเจนที่จะนำไปใช้เป็นมาตรฐาน ดังนั้นเมื่ออ่านแล้ว จึงต้องอยู่ในทางสายกลาง คือ ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นอันตราย ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ปฏิบัติได้ง่ายๆในชีวิตประจำวัน เช่น การกินผัก ผลไม้ มากๆในแต่ละวัน แต่ก็ต้องระลึกไว้เสมอว่า ทุกอย่างในโลก มีทั้งข้อดี และข้อเสีย เช่น ถ้ากินแต่ผักผลไม้ จนขาดโปรตีน ก็จะส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยเช่นกัน ดังนั้นเรื่องที่เล่า จึงเป็นความรู้ แต่การนำไปปฏิบัติ หรือ การเชื่อ หรือ ไม่เชื่อ ควรต้องมีสติ