คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: แสงสว่างกับมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เราคุยกันเรื่องมะเร็งเต้านมบ่อยมาก ดูเหมือนจะบ่อยกว่าโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ทั้งนี้เพราะเป็นมะเร็งที่พบได้สูงเป็นลำดับหนึ่งในสตรี ในเกือบทุกชาติ รวมถึงประเทศไทย โดยสถิติพบในประเทศไทย คือ 20.9รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน

นักวิทยาศาสตร์ที่รวมถึงแพทย์ พยายามที่จะศึกษาหาปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือจากพันธุกรรม เพราะถ้าทราบ ก็จะสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคได้ โดยเพ่งเล็งถึงความแตกต่างระหว่างหญิงในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่พบมะเร็งเต้านมได้น้อยและหญิงในประเทศที่กำลังพัฒนาและที่เจริญแล้วที่พบมะเร็งเต้านมได้สูง พบว่า นอกจากอัตราการบริโภคเนื้อแดง (เคยเล่าให้ฟังแล้วในตอน อาหารโปรตีนกับมะเร็งเต้านม) ผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาและในประเทศที่เจริญแล้ว มีชีวิตอยู่ท่ามกลางแสงไฟ/แสงสว่างยาวนานกว่าผู้หญิงในประเทศด้อยพัฒนา

จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า การที่ต้องอยู่ในแสงสว่างที่นานขึ้นจะมีผลส่งกระทบถึงวงจรชีวิตที่เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง นาฬิกาชีวภาพ) ที่ควบคุมการรับรู้และการทำงานของเซลล์ในช่วงกลางวันและกลางคืน โดยแสงสว่างจะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเมลาโทนิน(Melatonin) ที่ควบคุมการเจริญเติบโตและภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายผิดปกติ ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ ซึ่งการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สัตว์ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในแสงสว่างนานกว่าปกติ มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้สูงขึ้น รวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะ และในผู้หญิงที่มีปัญหาทางการมองเห็น พบว่า ผู้หญิงที่ทำงานเป็นกะ ในกะกลางคืน (ได้รับแสงสว่างนานกว่าปกติ) มีอุบัติการณ์มะเร็งเต้านมสูงกว่า หญิงที่ทำงานกะปกติ และหญิงมีปัญหาสายตา(ได้รับแสงสว่างน้อย) มีอุบัติการณ์มะเร็งเต้านมต่ำกว่าหญิงทั่วไป ถึงแม้ทั้ง2กรณี ความแตกต่างยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติก็ตาม

แต่การศึกษาเหล่านี้ ก็จุดประกายให้เกิดการศึกษาที่ใช้จำนวนผู้ศึกษาที่มากขึ้น และติดตามผลการรักษาให้นานขึ้น รวมไปถึงการแบ่งย่อยเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น อายุ ภาวะหมดประจำเดือน วัยมีประจำเดือน ประวัติมะเร็ง และมะเร็งเต้านม ในครอบครัว เพื่อสามารถหากลุ่มเสี่ยงได้ชัดเจน เพราะถ้าหาได้ ก็จะนำมาซึ่งการมีวิธีการที่จะป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้

ระหว่างทีรอผลการศึกษาที่แน่นอน ผู้หญิงที่ต้องทำงานที่อยู่ในแสงสว่างนานกว่าผู้อื่น(เช่น งานกะกลางคืน) ก็น่าจะป้องกันไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย เช่น การลดระดับความสว่าง(เปิดเฉพาะไฟดวงที่จำเป็น) การมีมุมที่ลดแสงสว่างเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้แสงสว่าง หรือในช่วงกลางวันก็พยายามอยู่ในที่ ที่ลดแสงสว่างเพื่อลดจำนวนเวลาที่ต้องอยู่ในแสงสว่างลง เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. Stevens, R.,G. et al. (2014). CA Cancer J Clin. 64, 207-218.