คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: รังสีที่ได้รับจากการตรวจเต้านม/แมมโมแกรม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

แมมโมแกรม(Mammogram) คือ การตรวจเต้านมโดยรังสีเอกซ์/รังสี เพื่อการวินิจฉัยโรคต่างๆของเต้านม รวมทั้งเพื่อช่วยวินิจฉัยมะเร็งเต้านมให้พบได้ตั้งแต่ในระยะยังไม่มีอาการ(การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง) ซึ่งการตรวจคัดกรองนี้ การศึกษาที่ผ่านมาในอดีต พบว่าช่วยลดอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งในสหรัฐอเมริกา และในยุโรปที่เจริญแล้ว พบว่า มีประชากรหญิงกลุ่มหนึ่งปฏิเสธจากตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม (ซึ่งต้องตรวจทุก 6เดือน-3 ปี ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ระยะเวลาในการตรวจขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงของผู้หญิงแต่ละคน) ด้วยเหตุผลของการกลัวการได้รับรังสีเอกซ์จากการตรวจ(ซึ่งหญิงเหล่านั้นเชื่อว่า ต้องได้รับปริมาณรังสีสูง) เพราะรังสีเอกซ์ในปริมาณสูง ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน

คณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาในเรื่องนี้เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ในการตรวจแมมโมแกรมว่า ไม่ได้ส่งผลให้ได้รับปริมาณรังสีที่สูงเกินไป ซึ่งการศึกษานี้นำโดย Hollada, J. โดยที่ผลการศึกษา ได้นำเสนอต่อการประชุ่มทางวิชาการด้านรังสีของสมาคมทางรังสีในสหรัฐอเมริกา(American Roentgen Ray Society) เมื่อ พฤษภาคม 2557

โดยศึกษาในกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม 78 ราย อายุช่วง 19-89 ปี โดยศึกษาว่า เธอคาดหมายว่า เธอจะได้รับปริมาณรังสีเท่าไรจากการตรวจ โดยมีตัวเลขปริมาณรังสีที่คาดว่าจะได้รับ ทั้งหมด 5 ระดับ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า เกือบทุกคน คิดว่า ตนได้รับปริมาณรังสีที่สูงกว่าที่ได้รับจริง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้ ไม่ขึ้นกับวุฒิการศึกษา และไม่ขึ้นกับการได้รับคำแนะนำวิธีการตรวจหรือไม่

ผู้ทำการศึกษา ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม ผู้ตรวจจะได้รับรังสี 0.4 mSv (Milli sievert/ หน่วยวัดรังสี) และ คำแนะนำจากองค์กรระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยจากรังสี (IAEA, International Atomic Energy Agency) คือ 50 mSv ต่อปี และทั่วไปในสิ่งแวดล้อม และในการใช้ชีวิตของเรา เราได้รับรังสีอยู่แล้ว จากแร่ธาตุในโลก และจากดวงอาทิตย์ เช่น การโดยสารเครื่องบินจาก Los Angeles ไป New York จะได้รับรังสีประมาณ 0.04 mSv ต่อเที่ยวบิน, รังสีจากสิ่งแวดล้อมในพื้นผิวโลก(Background)จะประมาณ 3.1 mSv ต่อปี, และจากอาหารที่บริโภคในทุกๆปี จะประมาณ 0.3 mSv ดังนั้นคณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า ทุกคนในด้านการแพทย์ ควรจะเผยแพร่ข้อมูลนี้สู่ประชาชน โดยเฉพาะผู้หญิง เพื่อได้รับทราบถึงความปลอดภัยจากรังสีจากการตรวจแมมโมแกรม เพื่อช่วยให้ลดความกลัว ความวิตกกังวล จากการตรวจนี้ลงได้

บรรณานุกรม

  1. Patient Perceptions of Radiation Exposure Associated With Mammography Hollada J*, Speier W, Oshiro T, Marzan-McGill R, Ruehm S, Bassett L, Martinez D, Wells C. University of California Los Angeles, Los Angeles, CA http://cf.arrs.org/abstracts/oralpresentations/index.cfm?app=false&fid=017 [2014,Oct18]