คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ผลการรักษาโรคมะเร็ง ตอนที่ 2

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เมื่อตอนที่แล้วได้เล่าให้ทราบถึง ปัจจัยต่างๆนอกเหนือจากระยะโรคมะเร็งที่เป็นตัวร่วมบอกการพยากรณ์โรคมะเร็ง ตอนนี้ จะเล่าต่อว่า ปัจจัยเหล่านั้นทำไม่ถึงมีผลต่อการพยากรณ์โรค

ประวัติทางการแพทย์อื่นๆของผู้ป่วย

ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น การเคยผ่าตัด การเคยเป็นมะเร็ง การเคยได้รับรังสีรักษา ยาเคมีบำบัด ตลอดไปถึง การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สมุนไพร

การเคยผ่าตัด โดยเฉพาะเคยผ่าตัดในอวัยวะที่เป็นมะเร็ง จะส่งผลให้การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเป็นไปได้ยากลำบากขึ้น และอาจทำให้ผ่าตัดโรคมะเร็งออกได้ไม่หมด จึงส่งผลให้การรักษาได้ผล ไม่ดีเท่าที่ควร

การเคยเป็นมะเร็งมาก่อน ทำให้ผู้ป่วยมักมีสุขภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติโดยเฉพาะภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ส่งผลให้แพทย์มักต้องปรับแผนการรักษา จึงส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่ากับในคนที่ไม่เคยเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะเมื่อเคยได้รับยาเคมีบำบัด หรือเคยได้รับรังสีรักษา(โดยเฉพาะการเป็นมะเร็งเกิดขึ้นใหม่ในเนื้อเยื่อที่เคยได้รับรังสีรักษา)

การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือติดสารเสพติด จะส่งผลให้มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย ถึงแม้จะไม่มีอาการ โดยเฉพาะกับอวัยวะที่กำจัดของเสียออกจากร่างกาย คือ ตับ ไต และปอด ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงมักทนการรักษาด้วย ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาไม่ได้ตามแผนการรักษา เพราะจะเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาสูง ผลการรักษามะเร็งจึงไม่ดี

การใช้สมุนไพร อาหารบางชนิด หรือ ยาพื้นบ้าน มักเป็นปัจจัยให้ โรคลุกลามมากขึ้น ร่างกายขาดสารอาหาร ดังนั้นผลการรักษาจึงต่ำกว่าที่ควร

การตรวจร่างกาย

จากการตรวจร่างกาย แพทย์จะทราบตำแหน่ง และขนาดของก้อนมะเร็ง

ขนาดของก้อนมะเร็ง ยิ่งมีขนาดใหญ่(ที่มักเกิน 2-3 ซม.) ผลการรักษายิ่งไม่ดี เพราะแสดงว่า โรคอาจเป็นมานานแล้ว หรือ เป็นโรคที่รุนแรง ก้อนเนื้อจึงโตเร็ว นอกจากนั้น ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่มักลุกลามอวัยวะข้างเคียง ส่งผลให้ผ่าตัดออกหมดได้ยาก และยังมักดื้อต่อยาเคมีบำบัด และ/หรือต่อดื้อต่อรังสีรักษา ผลการรักษา จึงไม่ดี

ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง จะช่วยบอกแพทย์ได้ว่า จะสามารถผ่าตัดได้หรือไม่ เช่น ถ้าเกิดที่ผิวหนัง โอกาสผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด จะสูงกว่า โรคที่เกิดบนใบหน้า

นอกจากนั้น การตรวจร่างกาย ยังช่วยให้พบอวัยวะที่สงสัยว่าน่าจะมีโรคแพร่กระจาย เช่น ตับ ต่อมน้ำเหลือง

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีได้ทั้งการตรวจเลือดและการตรวจปัสสาวะ ซึ่งเมื่อเป็นการตรวจขั้นพื้นฐาน จะเป็นตัวบอกสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วย โดยเฉพาะการทำงานของไขกระดูก(ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด รังสีรักษา ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ) และการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ ที่จะช่วยบอกถึงการติดเชื้อ หรือการทำงานของตับ ไตว่า สามารถจะรับการรักษา ด้วย การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งล้วนแต่ส่งผลถึงการรักษาโรคมะเร็ง ดังนั้นการพยากรณ์โรคมะเร็ง แพทย์จึงจำเป็นต้องทราบถึงผลของการตรวจต่างๆทางห้องปฏิบัติการ

นอกจากนั้น ในโรคมะเร็งบางชนิด จะมีการสร้างสารมะเร็ง (Tumor marker) ซึ่งใช้เป็นตัวบอกความรุนแรงของโรค การตรวจอาจโดยตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะ ซึ่งถ้ามีสารมะเร็งสูง การพยากรณ์โรคจะไม่ดี เพราะบอกถึงการมีปริมาณเซลล์มะเร็งเป็นจำนวนมาก

การตรวจภาพอวัยวะที่เป็นมะเร็งด้วยรังสีวิทยา

การตรวจภาพอวัยวะที่เป็นมะเร็งทางรังสีวิทยา เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอมอาร์ และ/หรือ การสะแกนกระดูก เป็นการตรวจที่จำเป็น เพราะนอกจากใช้บอกระยะโรคแล้ว ยังบอกตำแหน่งว่าก้อนมะเร็งอยู่ตรงตำแหน่งไหน มีกี่ก้อน ขนาดก้อนเป็นอย่างไร ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นตัวบอกถึงโอกาสทางการรักษาว่า สามารถผ่าตัดได้ไหม ถ้าผ่าได้ จะผ่าได้หมดไหม จะตอบสนองต่อรังสีรักษา หรือยาเคมีบำบัดได้ดีไหม ถ้ารักษาผลข้างเคียงจากการรักษา ทำให้รักษาได้ตามแพทย์ต้องการไหม จะคุ้มไหม

การผ่าตัดได้หรือไม่ได้ ผ่าตัดได้หมดหรือไม่

ถ้าผ่าตัดไม่ได้ การพยากรณ์โรคจะไม่ดีที่สุด, การผ่าตัดออกได้ไม่หมด การพยากรณ์โรคปานกลาง, แต่ถ้าผ่าตัดออกได้หมด การพยากรณ์โรคจะดีขึ้นมาก

คิดว่าจะเขียนเล่าให้ฟังได้จบภายใน 2 ตอน แต่เรื่องก็ยาวจนต้องขอต่อตอนที่ 3 ตอนจบในสัปดาห์หน้าคะ

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์