คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ผลการรักษาโรคมะเร็ง ตอนที่ 1

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

วันนี้คุยกันถึงเรื่องที่ทุกคนต้องการทราบมากว่า เมื่อเป็นมะเร็ง หรือคนรู้จัก ใกล้ชิดเป็นมะเร็ง เมื่อรักษาแล้วจะมีโอกาสหายเท่าไร ซึ่งโอกาสรักษาได้หายในโรคต่างๆที่รวมถึงโรคมะเร็ง ทางการแพทย์ เรียกว่า หรือใช้ศัพท์ว่า การพยากรณ์โรค(Prognosis)

ผลการรักษามะเร็ง หรือ Cancer prognosis นั้น คนทั่วไปเข้าใจว่า ขึ้นกับระยะโรคมะเร็ง เมื่อรู้ระยะโรคก็จะรู้ถึงการพยากรณ์โรค แต่เมื่อไปถามแพทย์ว่า โรคระยะนี้รักษาหายไหม ผู้ป่วยมีโอกาสรักษาหายกี่% ซึ่งแพทย์โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง มักตอบว่า ต้องถามหมอมะเร็งที่รักษาผู้ป่วย ทำไมคำตอบ จึงเป็นเช่นนั้น

ความเข้าใจที่ว่า การพยากรณ์โรคมะเร็งขึ้นกับ ระยะโรคมะเร็งนั้นถูกต้อง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะในโรคมะเร็ง การพยากรณ์โรคมะเร็ง ยังขึ้นกับ อีกหลายปัจจัยสำคัญ ที่ใช้เป็นตัวบอกวิธีรักษา และบอกถึงผลการรักษา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นรายละเอียดที่ได้จาก

  • ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น การเคยผ่าตัด การเคยเป็นมะเร็ง การเคยได้รับรังสีรักษา ยาเคมีบำบัด ตลอดไปถึง การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้อาหารเสริม การกินยาสมุนไพร/ยาพื้นบ้าน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • การตรวจภาพอวัยวะที่เป็นมะเร็งด้วยรังสีวิทยา
  • การผ่าตัดได้หรือไม่ได้ ผ่าตัดได้หมดหรือไม่
  • ลักษณะเฉพาะทางพยาธิวิทยาของก้อนมะเร็งโดยเฉพาะจากก้อนมะเร็งหลังการผ่าตัด เช่น มะเร็งลุกลามเข้า หลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง เส้นประสาท รวมไปถึงมีมะเร็งเกิดกี่จุดในอวัยวะเดียวกัน เป็นต้น
  • ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกด้วยหรือไม่ ได้ต่อมน้ำเหลืองมากี่ต่อม และมีโรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองกี่ต่อม
  • การตอบสนองต่อการรักษา
  • อายุ
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ที่รวมถึงโรคร่วมอื่นๆที่ผู้ป่วยเป็นร่วมกับโรคมะเร็ง
  • การรักษาผู้ป่วยที่เป็นไปตามแผนการรักษาหรือไม่

ซึ่งผู้ที่จะทราบข้อมูลเหล่านี้ได้ทั้งหมด คือ แพทย์ที่รักษาโรคมะเร็งของผู้ป่วยเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นที่มาที่ว่า ระยะโรคมะเร็ง บอกการพยากรณ์โรคได้ระดับหนึ่ง แต่การจะรู้การพยากรณ์โรคที่แท้จริง ต้องทราบจากแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเท่านั้น

ตอนต่อไปจะเล่าให้ทราบถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมปัจจัยที่กล่าวถึงเหล่านั้น ที่ไม่ใช่ระยะโรคมะเร็ง จึงเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกันต่อการพยากรณ์โรคมะเร็ง


พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์