คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: โอกาสเกิดมะเร็งของเด็กที่เกิดจากวิธีช่วยให้ตั้งครรภ์

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

คนในยุคนี้รวมทั้งในคนไทย จะแต่งงานเมื่ออายุสูงขึ้นมากทั้งหญิงและชาย จึงมักพบเห็นได้ยินบ่อยๆว่า มีลูกยาก ต้องใช้วิธีการและเทคนิคสมัยใหม่ช่วยให้มีลูก ซึ่งในฐานะที่ทำงานทางโรคมะเร็ง จึงเกิดสงสัยว่า ทารกที่เกิดจากวิธีสมัยใหม่เหล่านี้ จะมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเมื่อโตขึ้นไหม เพราะเทคนิคการทำให้เกิดการตั้งครรภ์ ทั้งฝ่ายหญิงและ/หรือฝ่ายชาย อาจต้องมีการใช้ยาบางประเภทในการนี้ด้วย พอดีมีการศึกษาในเรื่องนี้ ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ NEJM ฉบับประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ที่ศึกษาโดยคณะแพทย์จาก มหาวิทยาลัยลอนดอน นำโดย นพ. C. Williams

การศึกษานี้เป็นการศึกษาทางระบาดวิทยาที่เป็นการติดตามทารกในประเทศอังกฤษที่คลอดในช่วง 1 มกราคม ค.ศ.1992 ถึง 31ธันวาคม ค.ศ. 2008 ติดตามดูการเกิดโรคมะเร็งในเด็กกลุ่มนี้จนถึงอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งอัตราเฉลี่ยของการติดตามผลอยู่นาน 6.6 ปี กลุ่มเด็กที่ศึกษามีทั้งหมด 106,013 รายที่เกิดจากการช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ (In vitro fertilization/IVF) ทั้งนี้ต้องเป็นไข่และสเปิร์มของคู่สมรส ไม่ใช่ของบุคคลอื่น ในการนี้พบเด็กที่เกิดจากการช่วยเหลือให้ตั้งครรภ์ ที่เป็นมะเร็ง(มะเร็งเด็ก) มี 108 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบทางสถิติกับการเกิดโรคมะเร็งในทารกที่เกิดจากการตั้งครรภ์วิธีธรรมชาติ พบว่าไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Standardized incidence ratio 0.98)

แต่เมื่อแยกเป็นชนิดของโรคมะเร็ง โรคมะเร็งที่ให้สถิติไม่แตกต่างกันคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งไตในเด็ก มะเร็งนิวโรบลาสโตมา มะเร็งจอตาเรติโนบลาสโตมา เนื้องอกเจิมเซลล์ และเนื้องอกและมะเร็งสมอง แต่ที่พบว่า เกิดสูงกว่าในเด็กที่มารดาตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ คือ มะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมา และมะเร็งกล้ามเนื้อ แรบโดมัยโอซาร์โคมา ซึ่งผู้ศึกษาอธิบายว่า ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า วิธีช่วยการตั้งครรภ์อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งทั้ง 2 ชนิดจริงหรือไม่ จำเป็นต้องมีการศึกษาต่อเนื่องเพิ่มเติม

โดยสรุป การศึกษาที่มีประชากรจำนวนมากนี้ ช่วยให้ความมั่นใจได้ว่า การช่วยการตั้งครรภ์โดยที่ไข่และสเปิร์มเป็นของคู่สมรส ไม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในทารกที่เกิดจากวิธีการเหล่านี้ เมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่มารดาตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติ แต่เมื่อแยกเป็นแต่ละชนิดพบโอกาสเกิดมะเร็งตับเฮปาโตบาลโตมาและมะเร็งกล้ามเนื้อแรบโดมัยโอซาร์โคมาสูงกว่า แต่มะเร็งทั้ง 2ชนิดก็เป็นชนิดที่พบเกิดได้น้อยมากๆๆๆๆๆ ดังนั้นผู้ที่ใช้วิธีทางการแพทย์ช่วยการตั้งครรภ์จึงไม่ควรกังวลจนเกินไป

บรรณานุกรม

Williams,C. et al. (2013).NEJM. 369,1819-1827.

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์