คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การสูบกัญชากับการเกิดมะเร็งคอหอยส่วนปาก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ในสหรัฐอเมริกา สถิติผู้สูบกัญชา(Marijuana หรือ Marihauna หรือ Cannabis) สูงมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพร้อมๆกับสถิติการสูงขึ้นของโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก(Oropharyngeal carcinoma) ดังนั้น แพทย์จึงตั้งข้อสงสัยว่า การสูบกัญชาซึ่งเป็นสารเคมี(คนละกลุ่มกับในบุหรี่ และยังไม่มีรายงานว่าเป็นสารก่อมะเร็ง) จะเหมือนสารเคมีในบุหรี่หรือไม่ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งของอวัยวะในส่วนของศีรษะและลำคอที่ได้รับการระคายเคืองจากควันบุหรี่ นอกจากนั้นสารในกัญชาซึ่งเป็นสารในกลุ่ม Cannabinoids กำลังอยูในการถกเถียงกันที่จะนำมาใช้รักษาอาการขางเคียงของผู้ป่วยมะเร็ง เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และช่วยบรรเทาอาการปวด

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทางระบาดวิทยาจากสถาบันต่างๆในสหรัฐอเมริกาและลาตินอเมริกาทั้งหมด 9 การศึกษา โดยคณะแพทย์ที่นำโดย นพ. Morgan A. Marks ในการนี้ได้ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนปากทั้งหมด 1921 ราย, มะเร็งลิ้น 356 ราย, และ ผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นมะเร็งซึ่งใช้เป็นกลุ่มควบคุม 7,639ราย ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนปากที่สูบกัญชา ทั้งที่ดื่มสุรา และ/หรือสูบบุหรี่หรือไม่ก็ตาม เกิดมะเร็งคอหอยส่วนปากสูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้สูบกัญชา 1.24 เท่า ในขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งลิ้นที่สูบกัญชา ไม่ดื่มสุรา และไม่สูบบุหรี่ เกิดมะเร็งลิ้นน้อยกว่าผู้ป่วยไม่สูบกัญชา 0.47 เท่า

คณะผู้ศึกษาได้สรุปผลการศึกษาว่า แปลผลการศึกษาได้ไม่แน่นอน เพราะปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดมะเร็งในศีรษะและลำคอที่สำคัญอีกปัจจัยไม่ได้อยู่ในการศึกษานี้ นั่นคือ การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี นอกจากนั้น ปัจจัยเสี่ยงอาจแปรเปลี่ยนตามตำแหน่งที่เกิดโรคก็ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ในทางการแพทย์ การศึกษาต่างๆยังไม่สามารถระบุได้ว่า การสูบกัญชาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด และมะเร็งอวัยวะในส่วนศีรษะและลำคอหรือไม่ เพราะการศึกษาให้ผลขัดแย้งกัน ทั้งในเรื่อง ไม่มีผลต่อการเกิดมะเร็ง, เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง, และสามารถลดโอกาสเกิดมะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม กัญชาเป็นยาเสพติด และจนถึงปัจจุบัน การใช้กัญชาด้านการแพทย์ในบ้านเราก็ยังผิดกฎหมายยกเว้นในการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ที่ต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่เป็นกรณีไป

นอกจากเป็นยาเสพติด ที่ต้องใช้ปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กัญชายังก่อผลข้างเคียงต่างๆได้ เช่น วิงเวียน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ประสาทหลอน และหวาดระแวง

สรุป จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันได้แน่นอนว่า การสูบกัญชาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด และมะเร็งของอวัยวะในระบบศีรษะและลำคอที่รวมถึงมะเร็งคอหอยส่วนปาก

บรรณานุกรม

1. Morgan A. Marks. Et al. (2013).Cancer Epidemiol Biomarkers Prev; 23(1); 160–71(Abstract).
2. http://www.cancer.gov/cancertopics/pdq/cam/cannabis/patient/page2 [2014,Sept20]
3. http://www.cancerresearchuk.org/cancer-help/about-cancer/cancer-questions/does-smoking-cannabis-cause-cancer [2014,Sept20]

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์