คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน โยคะกับมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

โยคะ (Yoga) เป็นศาสตร์หนึ่งในการฝึกร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ให้อยู่ในสมดุล เพื่อการมีสุขภาพที่ดีทั้ง ร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ ดังนั้นเมื่อได้รับการฝึกอย่างถูกวิธี จะส่งผลให้ผู้ได้รับการฝึกมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งเป็นที่ประจักษ์สำหรับผู้ที่ฝึกโยคะอย่างถูกวิธี ซึ่งทางการแพทย์หลายสาขา ได้นำโยคะเข้ามาเป็นการแพทย์สนับสนุน หรือการแพทย์ผสมผสานในการรักษาโรคเรื้อรังต่าง ที่รวมถึงการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง

คณะแพทย์จากหลายสถาบันด้านโรคมะเร็งในสหรัฐอมริกา ที่นำโดย Kavita D. Chandwani ได้รายงานการศึกษา ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JCO (Journal of clinical oncology) ฉบับวันที่ 3มีนาคม 2557 เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการฝึกโยคะกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่กำลังได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษา ทั้งนี้ได้ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งระยะ0- 3 ทั้งหมด 163 คน(เป็นผู้หญิงทั้งหมด) โดยการสุ่มตัวอย่างแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม, กลุ่มแรก 53 คน เป็นกลุ่มที่จะได้รับการฝึกโยคะในช่วงฉายรังสีรักษา, กลุ่มที่2; 56คน เป็นกลุ่มที่ระหว่างได้รับรังสีรักษา จะได้รับการสอนออกกำลังกายวิธีอื่นที่ไม่ใช่โยคะ(Simple stretching), และกลุ่มที่3; 54คน เป็นกลุ่มควบคุม คือฉายรังสีรักษาเพียงอย่างเดียว

กลุ่มที่ได้รับการฝึกโยคะและสอนการออกกำลังกายด้วยวิธีอื่น ได้รับการฝึกสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลาทั้งหมด 6 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ในสัปดาห์แรกของการฉายรังสี ผู้ป่วยทุกคนทั้ง 3 กลุ่มจะได้รับการประเมินคุณภาพชีวิตด้วยการตอบคำถามที่เป็น check list ทั้งหมด 5 ครั้ง คือ ก่อนเริ่มการฉายรังสี, วันครบการรักษา และที่ 1 เดือน 3 และ 6 เดือนตามลำดับนับจากหลังครบรังสีรักษา

ผลการศึกษาพบว่า ที่ 3 และ6 เดือน กลุ่มผู้ได้รับการฝึกโยคะจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ผู้ป่วยอีก 2 กลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะในเรื่องของอาการอ่อนล้า เหนื่อยล้า (Fatigue) แต่ทั้ง 3 กลุ่มไม่แตกต่างกันในด้านของสุขภาพจิต และในเรื่องของคุณภาพในการนอนหลับ และผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการสอนออกกำลังกายด้วยวิธีอื่น คุณภาพชีวิตจะดีกว่ากลุ่มควบคุมจนถึง 3เดือน เมื่อประเมินที่6เดือนจะไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า การฝึกโยคะช่วงระหว่างฉายรังสีรักษา ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับรังสีรักษาและประโยชน์จะคงอยู่ต่อเนื่องนานถึงอย่างน้อย 6เดือนหลังครบการรักษา

ในความเห็นของผู้เขียน การศึกษานี้เป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยมะเร็ง และการจะฝึกโยคะต่อเนื่องตลอดไป ก็น่าจะให้ผลดีต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเช่นกัน ถึงแม้ยังไม่มีการศึกษาที่รายงานถึงการฝึกโยคะต่อเนื่องในระยะยาว

แต่อย่างไรก็ตาม การแพทย์ทุกวิธี มีประโยชน์และโทษเสมอ ขึ้นกับ ข้อบ่งชี้ และข้อจำกัดของแต่ละวิธี โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ที่มักมีสุขภาพที่แข็งแรงน้อยกว่าคนปกติ มักมีภาวะขาดอาหารไม่มากก็น้อย มีผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น จากรังสี และจากยาต่างๆที่บริโภคอยู่ จึงมักมีปัญหาในเรื่อง กระดูกบางหักง่ายกว่าคนทั่วไป(โรคกระดูกพรุน) และรวมไปถึงข้อจำกัดในการใช้กล้ามเนื้อต่างๆ

ดังนั้น การฝึกโยคะในผู้ป่วยมะเร็ง จึงควรต้องปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งก่อนเสมอ และต้องได้รับการฝึกสอนจากผู้มีความรู้ในเรื่องโยคะเป็นอย่างดี และผู้ให้การฝึกสอนต้องทราบด้วยว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอะไร และกำลังรักษาด้วยวิธีการอย่างไร มีข้อจำกัดในการใช้ กล้ามเนื้อ กระดูก และข้ออย่างไร รวมทั้งเมื่อเริ่มฝึกไปแล้ว ถ้ามีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยควรหยุดการฝึกทันที่และควรปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งที่ดูแลผู้ป่วยเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุดและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

บรรณานุกรม

1. http://jco.ascopubs.org/content/early/2014/03/03/JCO.2012.48.2752.abstract [2014,Aug16]