คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนแบคทีเรียในช่องปากกับมะเร็งลำไส้ใหญ่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ปัจจุบัน คนสนใจในเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่กันมากรวมทั้งในวงการแพทย์ เพราะเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง และมีโอกาสรักษาได้หายสูงด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีการเดียวเมื่อพบโรคในระยะเริ่มเป็น คือระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ ดังนั้นการศึกษาทางการแพทย์ จึงมุ่งเน้นไปที่

  • อะไรน่าเป็นสาเหตุหรือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพื่อจะได้พบวิธีที่มีประสิทธิภาพที่ป้องกันการเกิดโรค และ
  • มีวิธีที่จะตรวจคัดกรองให้พบโรค ก่อนมีอาการ ที่เป็นวิธีตรวจที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางที่มีจำนวนแพทย์จำกัด เพราะการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในปัจจุบัน ถึงแม้จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยุ่งยาก และต้องตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางเช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

ในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2556 มีรายงานการศึกษาในสหรัฐอมริกาที่น่าสนใจและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการตอบคำถามทั้ง 2 ข้อดังกล่าว ถึงแม้ทั้ง 2 การศึกษาจะเป็นเพียงการศึกษาใน “หนูทดลอง” เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ทั้ง 2 การศึกษาก็ให้ผลสอดคล้องกัน การศึกษาหนึ่งรายงานโดย Yiping W Han และคณะจาก มหาวิทยาลัย Case Western Reserve University และอีกรายงาน โดย Garrett W. และคณะจาก Harvard School of Public health and Dana-Farber Cancer Institute

ซึ่งโดยสรุปจากทั้ง 2 การศึกษา คือ แบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบเป็นประจำในช่องปากและในลำไส้ใหญ่ของคนเรา อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ/หรือกระตุ้นให้เมื่อเกิดโรคแล้ว โรคจะลุกลามรุนแรง ซึ่งแบคทีเรียนั้นคือ แบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นแท่ง ที่มีชื่อว่า “Fusobacterium nucleatum ย่อว่า F. nucleatum”

F. nucleatum เป็นแบคทีเรียที่มักพบที่เหงือก โดยเฉพาะในหินปูนที่ฟัน ที่เป็นสาเหตุให้เกิดเหงือกอักเสบ, และที่ในลำไส้ใหญ่ที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเรื้อรังในลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้เพราะแบคทีเรียชนิดนี้ ตรวจพบได้มากในก้อนเนื้อมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยไม่พบในเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่ที่ปกติ และเมื่อทำให้หนูทดลองติดเชื้อแบคทีเรียนี้ หนูทดลองที่ติดเชื้อก็เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าหนูทดลองที่ไม่ติดเชื้อนี้ นอกจากนั้นยังพบแบคทีเรียชนิดนี้ได้ในอุจจาระของคนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ/หรือ โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ (ที่อาจพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้) และพบว่า ในหนูที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลาม จะตรวจพบแบคทีเรียชนิดนี้สูงกว่าหนูกลุ่มที่เป็นโรคระยะเริ่มต้น

จากการศึกษาทั้ง 2 การศึกษา ถึงแม้ยังไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ชัดเจน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาต่อไปว่า

  • แบคทีเรียนี้ เกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ใหญ่จริงหรือไม่ ถ้าจริง จะเกี่ยวข้องในลักษณะไหน เช่น เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรค หรือ ให้โรคแพร่กระจาย หรือ ทั้ง 2 ประการ เพราะถ้าแบคทีเรียชนิดนี้เกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ใหญ่จริง การรักษาโดยการกำจัดแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายถูกกว่า ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันและรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ และ
  • การตรวจว่ามีแบคทีเรียชนิดนี้ในอุจจาระ มากน้อยเพียงใด ก็จะช่วยการคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งก็จะเป็นวิธีการที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายถูกกว่า และสามารถให้บริการได้ทั่วถึงกับคนทั่วไปได้ดีกว่าวิธีการคัดกรองที่มีในปัจจุบันมาก

ดังนั้น ความก้าวหน้าในการศึกษาเหล่านี้ จึงเป็นความหวังอย่างยิ่งในการ ป้องกัน ควบคุม วินิจฉัย ตรวจ รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพราะเป็นเรื่องดีๆที่น่าจะเป็นได้ในเร็ววันนี้คะ

บรรณานุกรม

1. http://www.cancernetwork.com/colorectal-cancer/content/article/10165/2154924 [2014,July19]
2. http://microbewiki.kenyon.edu/index.php/Fusobacterium_nucleatum [2014,July19].

พญ. พวงทองไกรพิบูลย์

ปัจจุบัน คนสนใจในเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่กันมากรวมทั้งในวงการแพทย์ เพราะเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง และมีโอกาสรักษาได้หายสูงด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีการเดียวเมื่อพบโรคในระยะเริ่มเป็น คือระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ ดังนั้นการศึกษาทางการแพทย์ จึงมุ่งเน้นไปที่...