คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนสารให้ความหวานกับโรคมะเร็ง

โรคมะเร็ง เป็นโรคของผู้มีอายุ ซึ่งด้วยวิถีชีวิตในปัจจุบัน ผู้มีอายุมักเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วย ซึ่งทุกคนรู้กันดีว่า เพื่อป้องกันโรคเบาหวาน หรือในการรักษาควบคุมโรคเบาหวาน แพทย์แนะนำให้จำกัดการบริโภค น้ำตาล/อาหารหวาน ส่งผลให้คนที่ชอบความหวานหันมาพึ่งพา สารให้ความหวาน (Artificial sweetener) เพื่อใช้แทนน้ำตาล นอกจากนั้นปัจจุบันในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยังหันมาใช้สารให้ความหวานมากขึ้น เพราะต้นทุนจะถูกกว่าน้ำตาล เนื่องจากสารให้ความหวานหลายอย่างในปริมาณที่เท่ากันสามารถให้รสหวานได้เป็นประมาณ 200- 7000 -13,000เท่าของน้ำตาล(ขึ้นกับชนิดของสารให้ความหวาน) ทั้งนี้รวมไปถึงการใช้สารให้ความหวานในผู้ต้องการลดน้ำหนัก เพราะเป็นสารที่ไม่ให้พลังงาน/ไม่เพิ่มน้ำหนัก (น้ำตาล 1 กรัมให้พลังงานประมาณ 4 กิโลแคลอรี)

อย่างไรก็ตาม หลายคนมีความเชื่อว่า สารให้ความหวาน ส่งผลลบต่อสุขภาพ และอาจเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้น ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ในยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา จึงมีการศึกษาถึงผลกระทบของสารให้ความหวานต่อสุขภาพของคน และต่อการเป็นสารก่อมะเร็งอย่างกว้างขวาง และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันก็ยังศึกษาอยู่ ถึงแม้ว่า องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) และ องค์กรด้านความปลอดภัยทางอาหารสหภาพยุโรป (European union, The European Food Safety Authority)ได้ข้อสรุปที่ตรงกันในการแนะนำกับผู้บริโภค (โดยใช้หลักฐานจากการศึกษาทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้)แล้วก็ตาม ซึ่งการศึกษาเหล่านี้ย้อนหลังไปจนถึงปี ค.ศ.1970

สารให้ความหวานที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และองค์กรที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรปได้ศึกษาคือ Saccharin (Sugar Twin, Sweet,N Low), Aspartame (Equal, NutraSweet), Acesulfame potassium(Sunett, Sweet One), Sucralose (Splenda), Neotame(มีส่วนประกอบของ Aspartame), และ Cyclamates

อนึ่ง สารให้ความหวานที่นิยมในท้องตลาดมากที่สุดและใช้ในครัวเรือนมากที่สุด คือ Aspartame ซึ่ง FDA สหรัฐอเมริกา แนะนำปริมาณต่อวันที่บริโภคแล้วยังไม่พบรายงานผลข้างเคียง (ADI, Acceptable daily intake) คือ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนในยุโรป คือ 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมซึ่งเป็นปริมาณที่สูงเกินกว่าที่ทุกคนจะบริโภคตามปกติในแต่ละวันเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังการใช้สารตัวนี้ ในคนที่เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาร Phenylalanine (เป็นโรคที่พบได้น้อยมากๆ ที่ถ้าบริโภคสารให้ความหวานตัวนี้ในปริมาณสูงอาจก่ออาการทางระบบประสาทได้)

ซึ่งผลสรุปจากการศึกษาทั้งหมด ทั้ง FDA จากสหรัฐอเมริกา และองค์กรฯของยุโรป สรุปว่า จนถึงปัจจุบัน การบริโภคสารให้ความหวาน ในปริมาณที่เพิ่มความหวานตามปกติที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน ของคนทุกเพศและทุกวัย(รวมเด็ก) ยังไม่มีรายงานว่า มีผลกระทบในด้านลบต่อสุขภาพ (รวมถึงต่อระบบประสาท) รวมทั้งไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งด้วย ถึงแม้จะเคยมีการศึกษาในสัตว์ทดลองว่า สารให้ความหวานบางชนิด อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การศึกษาต่อๆมาก็พบว่า การศึกษาเหล่านั้นมีข้อบกพร่องทางวิธีศึกษา ซึ่งเมื่อศึกษาซ้ำด้วยวิธีการที่ได้มาตรฐานทั้งในคนและในสัตว์ ก็ยืนยันว่า สารให้ความหวาน ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง รวมทั้ง IARC (International Agency for the Research on Cancer) องค์การระหว่างประเทศด้านโรคมะเร็ง ก็ไม่ได้จัดให้สารให้ความหวานดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง

สรุป ผู้ป่วยทุกท่าน ทุกเพศ ทุกอายุ รวมทั้งผู้ป่วยมะเร็งทุกคน สามารถใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลได้ อย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ ตราบเท่าที่ใช้ในปริมาณทั่วไป ที่ไม่ได้มากมายเกินควร

บรรณานุกรม

1. http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/artificial-sweeteners [2014,June16]
2. http://www.mayoclinic.com/health/artificial-sweeteners/MY00073 [2014,June16]
3. http://www.cancer.org/cancer/cancercauses/othercarcinogens/athome/aspartame [2014,June16]

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์