คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน: วัยรุ่น/เยาวชนที่เป็นมะเร็งกับการฆ่าตัวตาย

โดยทั่วไป ทุกคนทั่วโลกและในประเทศไทยยอมรับว่า ผู้ป่วยมะเร็งฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ป่วยโรคอื่นๆและสูงกว่าคนปกติทั่วไป แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนในกลุ่มคนที่มักมีปัญหาชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ คือ กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งช่วงอายุ 15-30 ปี ที่เรียกว่าวัยรุ่นและเยาวชน ทั้งนี้เพราะคนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ร่างกายกำลังมีการเปลี่ยนแปลง พึ่งพาภาพลักษณ์ เป็นวัยที่มีปัญหาทางการสื่อสารกับบุคคลต่างๆ มีสุขภาพจิตที่อ่อนไหวง่ายเพราะขาดประสบการณ์ชีวิต มักมีการตัดสินใจที่หุนหัน เข้ากับคนในครอบครัวได้ยาก ชอบเอาอย่างและต้องการคนเข้าใจ ช่วยเหลือ เกื้อกูลเป็นอย่างมาก

โรคมะเร็งในผู้ป่วยกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน เป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับโรคมะเร็งใน เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ การแพทย์ การพยาบาลจึงมีความใส่ใจด้านจิตวิทยาต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้น้อยกว่าผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มอื่นๆ จึงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีปัญหาทั้งด้านกายและจิตใจสูงกว่าบุคคลกลุ่มอายุอื่นๆเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็ง

นพ. Lu, D และคณะ ได้ศึกษาถึงอุบัติการณ์ของการคิดฆ่าตัวตาย หรือลงมือฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคมะเร็งกลุ่มนี้(อายุ 15-30 ปี) ในประเทศสวีเดน โดยเป็นการศึกษาแบบเฝ้าติดตาม(ไม่ใช่การสุ่มตัวอย่าง)ตั้งแต่ปี ค.ศ1987-2009 การศึกษานี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ที่สำคัญเล่มหนึ่ง คือ Ann Oncol เมื่อ ประมาณ สิงหาคม พ.ศ. 2556โดยเป็นการศึกษาในประชากรทั้งหญิงและชายตั้งแต่อายุ15 ปีขึ้นไป 7,860,629 คน และติดตามผลการศึกษานาน 17.4 ปี ซึ่งพบว่า ในกลุ่มคนที่ศึกษาช่วงอายุ 15-30 ปี มีเป็นมะเร็ง 12,669 คน

ผลการศึกษา พบว่า เยาชนที่เป็นมะเร็งมีการคิดฆ่าตัวตาย หรือมีการฆ่าตัวตายสูงกว่าเยาวชนที่ไม่ได้เป็นมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ 1.6 เท่าของเยาวชนทั่วไป ซึ่งการคิด/การกระทำนี้ พบสูงในช่วง 1 ปีแรกของการได้รับรู้ว่าเป็นมะเร็ง คือ 2.5 เท่าของเยาวชนทั่วไป ทั้งนี้ ยกเว้นในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ และโรคมะเร็งอัณฑะ (ในผู้ชาย) เนื่องจากมะเร็งทั้ง 2 ชนิดนี้มีการรักษาที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาการรักษาสั้น ไม่มีผลข้างเคียงจากการรักษามาก และ ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตน้อย โดยเป็นโรคมะเร็งที่เกือบไม่ต่างจากโรคทั่วๆไป และที่สำคัญที่สุด คือการพยากรณ์โรคดีมาก ผลการรักษาหายใกล้เคียงกับ 100% คือ มีโอกาสมีชีวิตได้ยืนยาวใกล้เคียงหรือเท่ากับคนปกติ

เราได้อะไรบ้างจากการศึกษาทางการแพทย์ที่เชื้อถือได้นี้ สิ่งที่เราได้ คือ ถ้ามีครอบครัว หรือคนรู้จักในวัยรุ่นหรือในวัยเยาวชนป่วยด้วยโรคมะเร็ง เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเมตตา ให้ความเข้าใจ เอาใจใส่เกื้อกูล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้มีที่พึ่งที่ไว้ใจได้ และมั่นใจว่า เป็นผู้ที่เข้าใจเขาและจะคอยดูแลช่วยเหลือเขาให้ผ่านวิกฤตของชีวิตไปได้ ซึ่งการดูแลที่สำคัญที่สุด คือ การมีเวลาให้เขานั่นเอง

บรรณานุกรม

Lu, D. et al. (2013). Ann Oncol. http://annonc.oxfordjournals.org/content/early/2013/10/20/annonc.mdt415.full [2014,June20].

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์