คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน การขอคำปรึกษาจากแพทย์ท่านที่สอง (Medical second opinion)

การขอคำปรึกษาด้านการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็ง กับแพทย์อีกท่าน หรือ อีกหลายๆท่านที่ไม่ใช่แพทย์ท่านแรกที่ให้การตรวจวินิจฉัยและแนะนำการรักษา เพื่อช่วยการตัดสินใจยอมรับการตรวจ และ/หรือการรักษา ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า Medical second opinion ซึ่งยังไม่มีคำศัพท์ภาษาไทยโดยเฉพาะ

แพทย์ที่ถูกปรึกษาเป็นท่านที่2 หรือ 3,4, ฯลฯ เหล่านี้ อาจเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาเดียวกับแพทย์ท่านแรก, แพทย์เฉพาะทางแต่เป็นคนละสาขากับแพทย์ท่านแรก (เช่น ท่านแรกเป็นศัลยแพทย์ทางมะเร็ง แพทย์ท่านที่2 อาจเป็นแพทย์ทางรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา หรือ แพทย์ทางอายุรกรรมด้านโรคมะเร็ง ก็ได้), อาจเป็นแพทย์ในโรงเรียนแพทย์, แพทย์โรงพยาบาลรัฐบาล, แพทย์โรงพยาบาลเอกชน, หรือแพทย์อื่นๆที่ผู้ป่วย/ครอบครัวรู้จักก็ได้

เหตุผลที่ทำให้ผู้ป่วยและ/หรือครอบครัวต้องการปรึกษาแพทย์ท่านที่2 มีได้หลากหลาย ที่พบได้บ่อย คือ

  • ไม่แน่ใจผลการตรวจวินิจฉัยว่าใช่มะเร็งจริงหรือไม่ หรือสงสัยในคำวินิจฉัยของแพทย์ท่านแรก
  • ไม่อยากทำการตรวจวินิจฉัยบางอย่างจึงต้องการความเห็นจากแพทย์ท่านที่ 2 ว่าจำเป็นต้องตรวจอย่างนั้นจริงหรือไม่ มีการตรวจอื่นๆที่ทดแทนได้ไหม เช่น กลัวการส่องกล้องตรวจลำไส้ เป็นต้น
  • ไม่อยากได้วิธีรักษาตามที่แพทย์ท่านแรกแนะนำ เช่น กลัวผ่าตัด ยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา จึงต้องการหาวิธีรักษาอื่นๆ
  • ไม่สะดวกในการรักษากับแพทย์ท่านแรก หรือกับโรงพยาบาลที่แพทย์ท่านแรกสังกัดอยู่
  • โรงพยาบาลแรกไม่สามารถให้สิทธิทางการรักษาได้
  • ค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลแรกสูงเกินไป
  • ต้องการได้วิธีรักษาที่โรงพยาบาลเดิมไม่มี
  • ต้องการเป็นผู้ป่วยในการศึกษาวิจัยของแพทย์ท่านที่ 2 เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดตัวใหม่ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในด้านโรคมะเร็ง แพทย์ท่านแรกเอง มักปรึกษาแพทย์ท่านที่ 2,3, ฯลฯ เสมอ ทั้งที่ผู้ป่วยทราบและผู้ป่วยไม่ทราบ โดยเฉพาะกรณีแพทย์ ไม่มั่นใจในผลการวินิจฉัย และ/หรือในวิธีรักษา เช่น กรณีการปรึกษากันในหมู่แพทย์รักษาโรคมะเร็ง ซึ่งมักมีเป็นประจำในทุกสัปดาห์ ที่เรียกว่า Tumor conference หรือ Grand round

อนึ่ง เมื่อต้องการปรึกษาแพทย์ท่านที่ 2 เพื่อป้องกันการเสียเวลา ผู้ป่วยควรต้องเตรียมประวัติการตรวจ การรักษาเดิมทั้งหมดจากแพทย์ท่านแรกมาให้แพทย์ท่านที่ 2 ประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้รวมถึงผลการตรวจทั้งหมด ผลการตรวจชิ้นเนื้อ ตัวใบอ่าน/ใบรายงานผล และตัวภาพจากการตรวจอวัยวะต่างๆ เช่น เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ นอกจากนั้น ควรต้องจดรายละเอียด ข้อสงสัย สิ่งที่ต้องการปรึกษา และสิ่งที่ต้องการทราบ เพื่อแจ้งกับแพทย์ท่านที่ 2 ด้วย ซึ่งถ้าสะดวกควรแจ้งให้แพทย์ท่านแรกทราบว่า ต้องการปรึกษาแพทย์ท่านที่ 2 เพื่อการได้ข้อมูลการตรวจรักษาที่ครบถ้วนสำหรับแพทย์ท่านที่ 2

ปัจจุบัน ในประเทศไทย การปรึกษาแพทย์ท่านที่ 2 ยังมีจำนวนไม่มาก แต่ก็พบมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะทำได้ ซึ่งข้อดี คือ ผู้ป่วยจะได้ความมั่นใจในการตรวจวินิจฉัยและการรักษา แต่ข้อเสียคือการเสียเวลา ถ้าการปรึกษาแพทย์ท่านที่ 2 ต้องใช้ระยะเวลานานเกิน 1-2 สัปดาห์ รวมทั้งการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรึกษาแพทย์ท่านอื่นๆ เป็นไปได้เสมอ เป็นสิทธิของผู้ป่วย และโดยทั่วไปแพทย์ทุกท่านที่ให้การรักษาโรคมะเร็ง ก็เข้าใจดี และยอมรับสิทธินี้ของผู้ป่วยอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องกังวลใจที่จะปรึกษาแพทย์ท่านที่ 2 คะ

บรรณานุกรม

- http://en.wikipedia.org/wiki/Second_opinion [2014,May19].

พ.ญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์