คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง: ตอน ขนาดรอบเอวกับมะเร็งเต้านม

เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์โรคมะเร็งว่า ดัชนีมวลกาย (BMI/ Body mass index: ค่าบอกว่าเรามีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน โดยดูจากความสัมพันธ์กันระหว่างส่วนสูงกับน้ำหนัก) สามารถเป็นตัวบอกถึงปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ โดยดัชนีมวลกายที่สูงเกินเกณฑ์ปกติ จะเป็นปัจจัยเสี่ยง ยิ่งค่าดัชนีมวลกายสูงขึ้น ปัจจัยเสี่ยงก็สูงตามไปด้วย แต่แพทย์ก็ยังค้นคว้าหาตัวชี้วัดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมที่ง่ายขึ้น ที่คนทั่วไปสามารถประเมินได้รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ซึ่งก็คือ ขนาดรอบเอว (Waist size) เพราะเป็นตัวชี้วัดโรคอ้วนเช่นกัน

เมื่อ 4เมษายน 2557 ได้มีการเผยแพร่งานศึกษาวิจัยทาง online ซึ่งเป็นงานศึกษาของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จาก สมาคมโรคมะเร็ง รัฐ แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา นำโดย M. Gaudet และตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Causes &Control โดยได้ศึกษาในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนทั้งหมด 28,965 ราย เริ่มการศึกษาในปี ค.ศ. 1997 ติดตามผลนาน 11.58 ปี เพื่อดูอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมว่าจะมีความสัมพันธ์กับค่าดัชนีมวลกายและ/หรือค่าขนาดรอบเอวหรือไม่ ผลการศึกษาคือ พบผู้หญิงกลุ่มนี้ เป็นมะเร็งเต้านม 1,088ราย โดยในผู้ที่มีดัชนีมวลกายสูงกว่าค่ามาตรฐานที่อยู่ในเกณฑ์อ้วน คือตั้งแต่ 30 ขึ้นไป มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงที่ค่าดัชนีมวลกายปกติ คือ ต่ำกว่า 25 สองเท่า โดยทุกๆค่าดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น 1 หน่วย โอกาสเกิดมะเร็งเต้านม จะเพิ่มประมาณ 4% ส่วนรอบเอว ถ้ารอบเอวเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 เซนติเมตร โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมจะสูงขึ้นประมาณ 13%

ผู้ทำการศึกษา จึงสรุปว่า ขนาดรอบเอวเป็นตัวชี้ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมได้ แต่เป็นตัวชี้ที่ด้อยกว่า ค่าดัชนีมวลกาย ส่วนค่ารอบเอวที่อยู่ในเกณฑ์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ(เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน) ที่รวมถึงมะเร็งเต้านม(ในผู้หญิง) คือ มากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตร ในหญิงเอเชีย , และ มากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร ในผู้ชายเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการศึกษานี้คือ ผู้เข้ารับการศึกษาส่วนใหญ่เป็นหญิงผิวขาว และการศึกษาไม่ได้ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงอื่นของการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม จำนวนการตั้งครรภ์ การกินยาฮอร์โมนเพศ การสูบบุหรี่

ดังนั้น ประโยชน์ที่เราได้จากการศึกษานี้ก็คือ ขนาดรอบเอว สามารถใช้ช่วยเตือนเราได้ว่า อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ แต่ถ้าให้แม่นย่ำมากขึ้น ควรต้องรู้ค่าดัชนีมวลกาย ซึ่งปัจจุบันง่ายมาก เพียงเข้าไปในอินเทอร์เนต พิมพ์คำว่า ‘ดัชนีมวลกาย’ ก็จะมีเว็บฯต่างๆ ที่ช่วยคำนวณให้ เพียงแค่เรากลอกค่าส่วนสูงและน้ำหนักตัวลงไปเท่านั้น

บรรณานุกรม

  1. http://link.springer.com/article/10.1007%2Fs10552-014-0376-4 [2014,May 7].
  2. http://uk.reuters.com/article/2014/04/25/us-bmi-breast-cancer-idUKBREA3O1X720140425 [2014,May7].
  3. http://www.measureup.gov.au/internet/abhi/publishing.nsf/Content/How+do+I+measure+myself-lp [2014,May10]

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์