คุยกับหมอรักษามะเร็ง ตอน: ภาวะซึมเศร้าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งไหม?

โดยทฤษฎี ภาวะซึมเศร้า อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งได้ เนื่องจาก เมื่อเกิดภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ สมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก หรือจิตใจ ที่รวมถึงภาวะซึมเศร้า จะหลั่งกลุ่มฮอร์โมน ที่เรียกว่า ฮอร์โมนความเครียด (Stress hormones) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการทางกายที่ผิดปกติหลายอาการ เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว และน้ำตาลในเลือดสูง และเมื่อมีภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง จะส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลง (Mutation) กลายเป็นเซลล์มะเร็ง แต่ในความเป็นจริง ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ใด ที่สามารถยืนยันได้ว่า การมีภาวะซึมเศร้า เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

เมื่อ กันยายน พ.ศ. 2556 ได้มีการรายงาน ผลการศึกษาที่สำคัญของกลุ่มแพทย์ด้านจิตเวช ของประเทศฝรั่งเศส เพื่อหาว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งหรือไม่ซึ่งผลการศึกษาได้ตีพิมพ์ในวารสารมาตรฐานทางการแพทย์ American Journal of Epidemiology ซึ่งได้เผยแพร่ล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ท เมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

การศึกษานี้นำโดย นพ. Lemogne, C. โดยได้ศึกษาคนงานชาวฝรั่งเศสที่ทำงานในโรงงานทั้งหมด 14,203 คน เป็นชาย 10,506 คน เป็นหญิง 3,697 คน โดยเริ่มต้นการศึกษาตั้งแต่ ค.ศ. 1994และติดตามผลจนถึง ปี ค.ศ. 2009 (15 ปี) คนเหล่านี้ เป็นคนทั่วไป ไม่มีโรคมะเร็งก่อนการศึกษา ทั้งนี้การประเมินภาวะซึมเศร้าในคนเหล่านี้ ประเมินตามหลักจิตวิทยา

ผลการศึกษาพบว่า ภาวะซึมเศร้า ไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคมะเร็งของคนกลุ่มนี้ และกลุ่มคนที่มีอาการซึมเศร้า กับกลุ่มคนที่ไม่มีอาการซึมเศร้า ก็เกิดโรคมะเร็งในอัตราการเกิดที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ดังนั้น คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า ภาวะซึมเศร้า ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

อาการของภาวะซึมเศร้า โดยทั่วไป คือ การรู้สึกหดหู่ เหงา ขาดที่พึ่ง ไร้ค่า รู้สึกผิดตลอดเวลา นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ ปวดศีรษะเป็นประจำ อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหารหรือกินมากจนเป็นโรคอ้วน

ซึ่งในความเป็นจริง เหตุผลที่บางการศึกษาที่ให้ผลว่า ภาวะซึมเศร้าอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง อาจเป็นเพราะ คนที่มีภาวะซึมเศร้า มักหันไปสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งทั้งสิ้น

และในทางตรงกันข้าม ผู้ป่วยโรคมะเร็ง มักมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าได้สูงกว่าคนทั่วไป

ผลจากการศึกษานี้ เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ดังนั้น เมื่อมีปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ ก็สามารถลดความกังวลลงได้ว่า ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ในขณะเดียวกัน ต้องตระหนักให้ได้ว่า เมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและมีภาวะซึมเศร้า มักส่งผลกระทบด้านลบต่อการรักษาโรคมะเร็งเสมอ ดังนั้น ทั้งผู้ป่วยมะเร็ง และครอบครัว ต้องร่วมมือกับทีมแพทย์ พยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ ยอมรับการรักษา ยอมดูแลตนเอง เพื่อให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่แข็งแรง ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลการรักษาที่ดี

บรรณานุกรม

  1. Lemogne, C. et al. (2013) http://aje.oxfordjournals.org/content/early/2013/09/26/aje.kwt217.abstract?sid=1499f827-4312-41eb-9838-01e5b5b7b5da [2014,March19].
  2. http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/stress [2014,march19]