คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การผ่าตัดเต้านมเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม (Preventive mastectomy)

ปัจจุบันการผ่าตัดเต้านม นอกจากเพื่อการรักษาโรคมะเร็งเต้านม (คือ เป็นมะเร็งก่อน แล้งจึงผ่าตัดเต้านม)แล้ว การผ่าตัดเต้านมยังใช้เป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้อีกด้วยทั้งนี้ในการผ่าตัดเต้านมเพื่อป้องกันโรคมะเร็งเต้านมได้ผลในการป้องกันประมาณ 90% กล่าวคือ ในกลุ่มผู้ที่ผ่าตัด 10 คน จะพบ 1 คนยังคงเกิดมะเร็งเต้านม ทั้งนี้เพราะการผ่าตัดไม่สามารถตัดเนื้อเยื่อเต้านมออกได้ทั้งหมด ตัดออกได้เฉพาะที่แพทย์มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเท่านั้น ดังนั้นในการผ่าตัดจึงยังมีเซลล์เต้านมคงเหลืออยู่เสมอ และเซลล์ที่เหลือนี้ คือเซลล์ที่อาจเกิดเป็นมะเร็งเต้านมได้หลังผ่าตัด

การผ่าตัดเต้านมเพื่อการป้องกันมะเร็งเต้านม มี 2 วิธีหลัก คือ ตัดเต้านมออกทั้งหมด รวมทั้งหัวนมด้วย เรียกว่า “Total mastectomy (ได้ผลป้องกันการเกิดมะเร็งได้ดีกว่า แต่ความสวยงามน้อยกว่า)” และผ่าตัดเต้านมออกแต่ยังเก็บหัวนมไว้ เรียกว่า “Subcutaneous mastectomy (ผลป้องกันมะเร็งต่ำกว่า แต่ให้ความสวยงาม และความรู้สึกในด้านรูปลักษณ์ที่ดีกว่า)”ทั้งนี้หลังผ่าตัดป้องกันฯ ผู้ป่วยหลายคนสามารถทำศัลยกรรมเต้านมได้ ทั้งนี้ขึ้นกับภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน และดุลพินิจของแพทย์

ส่วนผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น เดียวกับการผ่าตัดทั่วไป เช่น ปวดแผลผ่าตัด เลือดออกมากผิดปกติจากแผล แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเกิดแผลเป็น

ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดเต้านมเพื่อป้องกันโรคมะเร็งเต้านม ได้แก่ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งได้แก่

  1. เคยเป็นมะเร็งเต้านมแล้วข้างหนึ่ง จึงผ่าตัดอีกข้างที่เหลือ เพราะอีกข้างมีโอกาสเกิดมะเร็งได้สูง
  2. มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน)เป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะ เมื่อเป็นก่อนอายุ 50 ปี
  3. มีการตรวจทางพันธุกรรมและพบจีน/ยีนผิดปกติชนิดที่เสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เช่น จีน BRCA 1 หรือ จีน BRCA 2
  4. มีเนื้อเยื่อเต้านมผิดปกติชนิดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น มีหินปูนชนิดมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเกาะจับในเนื้อเยื่อเต้านมโดยเกาะจับกระจายทั่วทั้งเต้านม และ/หรือมีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่นผิดปกติ (Dense breast) ซึ่งเนื้อเยื่อผิดปกตินี้ตรวจพบจากการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจภาพรังสีเต้านม (Mammogram)
  5. พบมีก้อนเนื้อในเต้านมชนิดที่เรียกว่า Lobular carcinoma insitu
  6. เคยฉายรังสีรักษาบริเวณเต้านมในช่วงที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี

ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจใช้วิธีผ่าตัด ควรต้องปรึกษาแพทย์ให้เข้าใจถึงข้อดี และข้อเสีย รวมทั้งข้อจำกัด ของการผ่าตัดเพื่อจะได้เข้าใจ และยอมรับได้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งนี้ การป้องกันมะเร็งเต้านม นอกจากการผ่าตัดดังกล่าว ยังมี วิธีอื่นๆอีก ได้แก่ ยากินต้านฮอร์โมนเพศบางชนิด, การตรวจคัดกรองเป็นระยะๆด้วยการตรวจภาพรังสีเต้านม (Mammogram)ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยง จึงค่อยผ่าตัดเต้านม, การผ่าตัดรังไข่, และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งที่สำคัญ คือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน จำกัดอาหารไขมัน ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา

บรรณานุกรม

Preventive mastectomy http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Therapy/preventive-mastectomy [2014,March21].

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์