คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การรักษาโรคมะเร็งด้วยคลื่นวิทยุ

วิธีหลักในการรักษาโรคมะเร็ง คือ ผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้แพทย์มีความรู้ต่างๆมากขึ้น จึงได้มีการนำคลื่นวิทยุ (Radio frequency) หรือ ย่อว่า อาร์เอฟ(RF) มาใช้รักษาโรคมะเร็ง

อาร์เอฟ เป็นคลื่นวิทยุที่มีคุณสมบัติเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทีความถี่คลื่นอยู่ในช่วง 3 kHz-300GHz ซึ่งคลื่นนี้ในระดับ350-500kHz หรือในระดับที่เป็นคลื่นไมโครเวฟ(300MHz-300GHz)สามารถก่อให้เกิดความร้อนได้หลายระดับจากที่พออุ่นไปจนถึงความร้อนที่สูงมาก (Radiofrequency ablationย่อว่า RFA/อาร์เอฟเอ) ที่ทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อให้ตายได้ ซึ่งนี่เองคือ คุณสมบัติที่แพทย์นำ อาร์เอฟ มาใช้รักษาโรคมะเร็งด้วยการฆ่าเซลล์มะเร็งให้ตายด้วยความร้อนที่สูงมาก ทั้งนี้การตายลักษณะนี้เรียกว่า “การตายเฉพาะส่วน (Necrosis)” ซึ่งภายหลังการตายของเซลล์/เนื้อเยื่อ ร่างกายจะค่อยๆดูดซึมเซลล์/เนื้อเยื่อที่ตายออกไปจากร่างกายและซ่อมแซมอวัยวะนั้นด้วยเซลล์พังผืด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-4สัปดาห์ขึ้นกับ ขนาดของก้อนมะเร็ง การติดเชื้อหลังการรักษา และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

การรักษา จะโดยการใส่เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นเข็มขนาดยาวและใหญ่ (Probe) ที่ใช้เป็นตัวนำคลื่นวิทยุเข้าสู่ก้อนเนื้อมะเร็ง อาจเพียงเข็มเดียวหรือหลายเข็มพร้อมๆกัน โดยการแทงผ่านผิวหนังเข้าไปยังอวัยวะนั้นๆ การรักษาใช้ระยะเวลาประมาณ 30-60 นาทีซึ่งการรักษาจะเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยใน และต้องมีการใช้ยาชา หรือยาสลบ ทั้งนี้ขึ้นกับว่า เป็นการรักษาโรคที่อวัยวะใด ซึ่งผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาลประมาณประมาณ 1-3 วัน

ผลข้างเคียงจากการรักษา ได้แก่ เจ็บแผล มีไข้จากปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อเซลล์ที่ตายด้วยความร้อน เลือดออกจากแผล แผลติดเชื้อ อาจมีผลข้างเคียงจากยาชา/ยาสลบ และถ้าก้อนเนื้ออยู่ในบริเวณผิวๆของอวัยวะ อาจทำให้อวัยวะที่เป็นมะเร็ง หรือ อวัยวะข้างเคียงเกิดการทะลุได้ และถ้าเป็นการรักษาที่ปอด อาจมีไอ ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก และภาวะปอดแฟบส่งผลให้มีการหายใจลำบาก เป็นต้นซึ่งโดยทั่วไป ผลข้างเคียงเหล่านี้ รักษาหายได้ด้วยการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด/ลดไข้ ยาปฏิชีวนะ ส่วนอาการทะลุ หรือเลือดออกพบได้น้อย การรักษาต้องใช้การผ่าตัด

ข้อดีของการรักษาวิธีนี้ ได้แก่ ใช้รักษาโรคที่ผ่าตัดไม่ได้ ใช้รักษามะเร็งชนิดดื้อต่อรังสีรักษา และ/หรือต่อยาเคมีบำบัด ใช้รักษาซ้ำๆได้ และผลข้างเคียงน้อยกว่าการผ่าตัดมาก นอกจากนั้น ยังใช้ร่วมกับการผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และยารักษาตรงเป้าได้

ข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยวิธีนี้ ได้แก่ใช้รักษาก้อนมะเร็งให้เล็กลง เพื่อลด/บรรเทาอาการผู้ป่วย เพื่อสามารถผ่าตัดออกได้เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดเล็กลง มักใช้รักษาโรคมะเร็งตับ (ทั้งมะเร็งตับเอง และมะเร็งอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมาตับ) มะเร็งไต และมะเร็งปอด

ข้อจำกัดของการรักษาวิธีนี้ ได้แก่ เครื่องมือมีราคาแพง ต้องใช้แพทย์เฉพาะทาง และก้อนเนื้อต้องไม่อยู่ใกล้กับหลอดเลือด หรือใกล้อวัยวะที่เป็นท่อ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อ/อวัยวะเหล่านั้นทะลุได้

แหล่งข้อมูล

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Radio_frequency [2014,March21].
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Radiofrequency_ablation [2014,March21].
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Microwave [2014,March21].