คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ทำอย่างไรถ้านอนไม่หลับ?

การนอนไม่หลับในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก การศึกษาทางการแพทย์ พบอาการนี้ได้ประมาณ 24-95% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด ทั้งนี้ อุบัติการณ์ขึ้นกับแต่ละกลุ่มโรคที่ศึกษา รวมถึงเป็นการศึกษาในช่วงใดของชีวิต เช่น ช่วงวินิจฉัยโรค ช่วงรักษา หรือช่วงหลังครบการรักษาแล้ว ซึ่งอาการนอนไม่หลับอาจพบเกิดได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือบางคนประมาณ 23-44% พบมีอาการต่อเนื่องได้นานเป็นปี หรือหลายปี

สาเหตุ การนอนไม่หลับในผู้ป่วยมะเร็ง มีได้หลากหลาย ที่พบได้บ่อย คือ

  • ปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ ความเครียด ความกังวล ความกลัว บางคนกลัวว่าถ้าหลับแล้วจะไม่ฟื้นตื่นขึ้นมาอีก เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น จากตัวยาเคมีบำบัดที่ส่งผลถึงการทำงานของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อที่สร้างฮอร์โมนที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ และการทำงานต่างๆของร่างกาย ส่งผลให้สมองส่วนที่ทำหน้าที่เป็นนาฬิกากลางวันกลางคืนทำงานแปรปรวน จึงนอนไม่หลับกลางคืน แต่มาหลับกลางวันแทน ทั้งนี้รวมถึงเมื่อมีการฉายรังสีรักษาในบริเวณสมอง และการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูก
  • สภาพแวดล้อม เช่น การอยู่โรงพยาบาล ห้องนอนมีเสียงดัง สว่างเกินไป หรืออากาศถ่ายเทไม่ดี เป็นต้น
  • นอน หรือพักผ่อนกลางวันมากเกินไป พอกลางคืนจึงนอนไม่หลับ มาหลับกลางวันแทน
  • เกิดจากตัวเซลล์มะเร็ง หรือเนื้องอกเอง เช่น เนื้องอกสมอง มะเร็งที่แพร่กระจายเข้าสู่สมอง หรือการสร้างสารต่างๆของเซลล์มะเร็งที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง
  • มีอาการจากโรคมะเร็งที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เช่น อาการปวด การไอ การเหนื่อยหอบ การแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
  • มีโรคอื่นๆอยู่ก่อนแล้วที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เช่น นอนกรน หรือเป็นโรคนอนไม่หลับมาก่อน
  • ติดยานอนหลับ

ลักษณะผู้ป่วยมะเร็งที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการนอนไม่หลับ คือ

  • เป็นผู้หญิง
  • ผู้สูงอายุ
  • เป็นโรคมะเร็งระยะลุกลามและ/หรือแพร่กระจาย
  • มีประวัติเคยนอนไม่หลับมาก่อน และ/หรือ มีคนในครอบครัวมีอาการนอนไม่หลับ
  • เป็นคนเครียดง่าย
  • ครอบครัวมีภาวะความเครียด
  • ผู้ป่วย และ/หรือครอบครัว มีประวัติอาการทางจิตเวชมาก่อน หรือมีครอบครัวที่มีปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ
  • ติดสุราหรือใช้ยาเสพติด

การดูแลรักษาจากแพทย์ และการดูแลตนเอง

แพทย์ให้การดูแลผู้ป่วยนอนไม่หลับด้วยการตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุ นอกจากนั้น คือ การให้ยานอนหลับ และบางครั้งจำเป็นต้องปรึกษาจิตแพทย์

การดูแลตนเองของผู้ป่วย และการที่ครอบครัวจะดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่นอนไม่หลับ คือ

  • จัดสิ่งแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอน (กลางคืน)
  • ไม่กินอาหารหนักใกล้เวลานอน
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีน โดยเฉพาะ 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • เข้านอน ต่อเมื่อง่วงจริงๆ ถ้ายังไม่ง่วง ให้ทำกิจกรรมเบาๆ ไม่เครียด
  • ช่วยกระตุ้นไม่ให้ผู้ป่วยนอนกลางวัน
  • เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
  • ออกกำลังกายพอควรกับสุขภาพทุกวัน แต่ไม่ออกกำลังกายใกล้เวลานอน อย่างน้อยควรห่างกัน 2-3 ชั่วโมง
  • ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ครอบครัวควรช่วยผ่อนคลายปัญหาทางอารมณ์จิตใจของผู้ป่วย
  • กินยาต่างๆตามแพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์เสมอ ถ้านอนไม่หลับจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

บรรณานุกรม

  1. Graci,C. (2005).Pathogenesis and management of cancer related insomnia. J Support Oncol. 3, 349-359.
  2. http://www.cancer.gov/cancertopics/pdq/supportivecare/sleepdisorders/HealthProfessional/page2 [2013,Dec19].
  3. http://www.medscape.com/viewarticle/575955 [2013,Dec19].