คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: สารระงับกลิ่นตัวที่ทาใต้วงแขนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเต้านมไหม?

ในบลอคตอนต้นๆ ได้เคยเล่าให้ฟังถึงว่า การสวมใส่ยกทรงว่า ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มาเมื่อเสาร์ก่อนหน้านี้ มีผู้ป่วยท่านหนึ่งที่เป็นมะเร็งเต้านม ถามว่า การที่เธอใช้สารระงับกลิ่นตัว (Deodorant) หรือสารระงับเหงื่อ (Antiperspirant) บริเวณรักแร้ ตั้งแต่เป็นเด็กสาวต่อเนื่องมาจนถึงอายุ 45 ปี เป็นสาเหตุ/หรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมของเธอไหม?

ความกลัว ความกังวลในเรื่องนี้ มาจากทฤษฎีที่ว่า ทั้ง 2 ของใช้ในชีวิตประจำวันของคนปัจจุบันโดยเฉพาะผู้หญิง เป็นสารเคมี ดังนั้น การได้สัมผัส หรือร่างกายดูดซึมสารเคมีเหล่านี้ต่อเนื่องเป็นประจำ จึงอาจนำไปสู่การกลายพันธ์ของเซลล์ที่สัมผัสสารเหล่านี้ไปเป็นเซลล์มะเร็งได้

คำตอบ คือ จากการศึกษาที่มีในปัจจุบัน สารทั้ง 2 ชนิดนั้น ยังไม่มีผลเป็นปัจจัยเสี่ยง/หรือสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม เพราะจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2556) การศึกษาทางการแพทย์ต่างๆยังไม่สามารถยืนยันได้ รวมทั้งยังไม่เคยมีรายงานใดๆเลยว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเกิดจากการใช้ทั้ง 2 สิ่งนี้ แต่ที่อาจพบได้ คือ การแพ้ จนเกิดผื่นกับผิวหนังที่สัมผัสสารเหล่านี้

ดังนั้น การใช้สารทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยคะ แต่ในระหว่างการฉายรังสีรักษามะเร็งเต้านม หรือในบริเวณรักแร้ แพทย์จะห้ามการใช้สารทั้ง 2 ชนิดในบริเวณรักแร้ด้านฉายรังสี เพราะรังสีจากการรักษา จะโดนผิวหนังของรักแร้ด้วย ผิวหนังรักแร้ข้างนั้น จึงมีการอักเสบจากรังสี การใช้สารทั้ง 2 ชนิดขณะให้รังสีรักษา จึงอาจเสริมให้ผิวหนังรักแร้อักเสบเป็นแผลเหมือนน้ำร้อนลวก/แผลไฟไหม้ได้สูงขึ้น และอาจรุนแรง จนเป็นเหตุให้ต้องพักรังสีรักษาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ซึ่งอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาโรคลดลง แพทย์จึงได้สั่งห้าม ซึ่งเป็นการห้ามเฉพาะช่วงได้รับรังสีรักษาต่อเนื่องไปจนถึงประมาณ 4-8 สัปดาห์หลังครบรังสีรักษา กล่าวคือ จนกว่าผิวหนังรักแร้ จะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ผู้ป่วยก็สามารถกลับมาใช้สารทั้ง 2 ชนิดได้ปกติตามเดิมคะ

สรุป จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2556) ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าสารทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นสารก่อมะเร็ง และยังไม่พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมคะ

แหล่งข้อมูล:

  1. http://www.breastcancer.org/risk/factors/no_evidence [2013,Oct 22].
  2. http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/AP-Deo [2013,Oct22].