คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ผู้ป่วยมะเร็งควรมีลูกไหม?

ในตอนต้นๆเคยเล่าให้ฟังถึงเรื่องว่า ผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่ เมื่อเป็นโรคมะเร็งในช่วงการรักษา ควรต้องคุมกำเนิดเสมอ ส่วนผู้ชายที่เป็นมะเร็ง ไม่ว่าจะอยู่ช่วงไหนของการเป็นมะเร็ง สามารถมีลูกได้เสมอ ขึ้นกับความแข็งแรง ความต้องการ และความพร้อมในการดูแลทารกจากภรรยาและจากครอบครัวของผู้ป่วย

ตอนนี้ จะคุยถึงเรื่อง ผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ (วัยยังมีประจำเดือน) เมื่อรักษาโรคมะเร็งครบการรักษาแล้ว จะมีลูกได้ไหม?

โรคมะเร็ง เป็นโรคที่มีธรรมชาติของโรค มีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำได้อีก โดยแพทย์มักต้องรออย่างน้อยประมาณ 2-3 ปีหลังครบการรักษาทุกวิธีการแล้ว โดยเมื่อครบการรักษา ต้องตรวจไม่พบรอยโรคมะเร็งหลงเหลืออยู่ จึงจะพอพยากรณ์ได้ว่า ผู้ป่วยจะมีโอกาสที่โรคมะเร็งย้อนจะกลับมาเป็นซ้ำอีกหรือไม่ ทั้งนี้เพราะถ้าจะมีการย้อนกลับเป็นซ้ำ 80-90%ของการย้อนกลับเป็นซ้ำจะเกิดภายใน 2-3 ปีหลังครบการรักษา

กรณีตั้งครรภ์หลังครบการรักษา ผู้ป่วยมีโอกาสแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด และทารกแรกคลอดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์สูงกว่าทารกจากหญิงปกติทั่วไป ส่วนการเกิดความพิการแต่กำเนิด และการเกิดโรคมะเร็งในช่วงวัยเด็กไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากทารกที่เกิดจากหญิงปกติ

ดังนั้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งหญิงที่ต้องการมีบุตรหลังครบการรักษา ควรคำนึงถึง

  • โรคของตนเองมีโอกาสย้อนกลับสูงหรือไม่?
  • โรคของตนเองเป็นชนิดที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนหรือไม่?
  • หลังครบการรักษาหลักแล้ว ผู้ป่วยยังมีการรักษากินยาต่อเนื่องอยู่หรือไม่ เช่น ยาต้านฮอร์โมนในโรคมะเร็งเต้านม ทั้งนี้เพราะการหยุดยากลางคันก่อนกำหนด อาจส่งผลต่อการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งได้
  • อายุขณะที่ตั้งครรภ์เท่าไร? เพราะในผู้หญิงปกติ ถ้าตั้งครรภ์ในอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ก็เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่อทารกรวมทั้งโอกาสเกิดปัญหาทางสติปัญญาหรือความพิการแต่กำเนิด ดังนั้นในหญิงโรคมะเร็งอายุ มากกว่า 35 ปีจึงมีโอกาสที่ทารกจะมีความผิดปกติ สูงขึ้น
  • ในกรณีตั้งครรภ์ แล้วเกิดโรคมะเร็งย้อนกลับขณะตั้งครรภ์ ผู้ป่วยและครอบครัวจะตัดสินใจรักษาอย่างไร?
  • กรณีตั้งครรภ์ แล้วตรวจพบความผิดปกติของทารกขณะอยู่ในครรภ์ ผู้ป่วยและครอบครัวจะตัดสินใจอย่างไร?
  • กรณีทารกเกิดมาแล้วพิการ ผู้ป่วยและครอบครัวจะดูแลทารกอย่างไร?
  • กรณีเลวร้ายที่สุด ถ้าผู้ป่วยเสียชีวิต แต่ทารกรอดชีวิต ใครจะดูแลทารก

สรุป เมื่อผู้ป่วยและครอบครัว ตอบคำถามได้ทุกข้อแล้ว และตัดสินใจที่จะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาโรคมะเร็งร่วมกับสูติแพทย์ที่จะดูแลผู้ป่วยขณะตั้งครรภ์เสมอเพื่อการดูแลที่เหมาะสมทั้งต่อผู้ป่วยและทารกในครรภ์