คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: จะตัดสินใจรักษาโรคมะเร็งในผู้สูงอย่างไร?

ผู้สูงอายุ ตามกฎหมายไทย คือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ในประเทศที่เจริญแล้ว หมายถึงมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ทั้งนี้การกำหนดว่าอายุเท่าไรจึงจะเป็นผู้สูงอายุ ขึ้นกับแต่ละประเทศโดยดูจากสุขภาพความแข็ง และอายุขัยของประชากรในชาติของตนเป็นหลัก

ผู้สูงอายุ จะมีลักษณะเฉพาะวัย คือ เซลล์ทุกชนิดเสื่อมโทรมตามธรรมชาติ ระบบการกินอาหาร การย่อยอาหารถดถอย ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงมักมีปัญหาทางโภชนาการ การฟื้นฟูซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บเสียหายจึงเป็นไปได้ยาก เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจึงมักมีผลข้างเคียงที่ซับซ้อนและมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าวัยอื่น

นอกจากการเสื่อมโทรมตามธรรมชาติแล้ว ผู้สูงอายุยังมักมีโรคเรื้อรังประจำตัวหลายโรคที่ควบคุมดูแลยาก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคทางสายตา (เช่น ต้อกระจก) เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ ทำให้ผู้สูงอายุมักดูแลตนเองได้ยาก ต้องพึ่งพา ต้องการคนดูแลโดยเฉพาะเมื่อเจ็บป่วย นอกจากนั้นยังมักเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้จำกัด จึงมักมีปัญหาทางเศรษฐกิจ

โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีการรักษายุ่งยากซับซ้อน ใช้ระยะเวลารักษาต่อเนื่องนานเป็นเดือน การรักษาเพื่อหวังผลหายขาดมักมีผลข้างเคียงที่คนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีผู้ดูแลที่ดีเท่านั้นที่จะสามารถฟื้นตัวกลับปกติได้ ดังนั้น การรักษาโรคมะเร็งเพื่อหวังผลให้หายขาดจึงเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจให้ดีในผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมีโอกาสเสียชีวิตจากผลข้างเคียงจากการรักษาได้สูง โดยเฉพาะ-จากภาวะติดเชื้อ -จากเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และจากภาวะทุพโภชนาการ

ดังนั้นในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ตัวหลักในการพิจารณาวิธีรักษา คือ -สุขภาพของผู้ป่วยรวมทั้งโรคร่วมอื่นๆ -อายุที่คาดว่าถ้าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคมะเร็งผู้ป่วยจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกนานเท่าไร -และอาการจากโรคมะเร็งของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง ดูแลตนเองได้ดี โรคร่วมต่างๆได้รับการควบคุมอย่างดีติดต่อต่อเนื่องกันนานอย่างน้อย 1-2 ปี และคาดว่าถ้าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง ผู้ป่วยน่าจะมีอายุยืนยาวได้นานตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป แพทย์จึงจะนำเรื่องของโรคมะเร็งเข้ามาพิจารณาร่วมว่าสมควรรักษาเพื่อการหายขาดหรือไม่ ได้แก่ เป็นมะเร็งอะไร ระยะที่เท่าไร เซลล์มะเร็งเป็นชนิดรุนแรงหรือไม่ เป็นมะเร็งที่มีการตอบสนองที่ดีต่อวิธีรักษาต่างๆหรือไม่ และจะร่วมปรึกษาถึงวิธีรักษากับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยเสมอ

อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทย ปัญหาสำคัญในการรักษามะเร็งในผู้สูงอายุ คือ ครอบครัวไม่กล้าบอกความจริงกับผู้ป่วยและยังร้องขอไม่ให้แพทย์บอกความจริงกับผู้ป่วยอีกด้วย

ในยุคปัจจุบัน สังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก การเข้าถึงข่าวสารมีมากขึ้น ส่วนใหญ่รู้จักโรคมะเร็งมากขึ้น พร้อมๆกับรู้จักความต้องการของตนเอง ต้องการตัดสินใจและรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเอง ผู้สูงอายุก็เช่นกัน ดังนั้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องจากแพทย์ในเรื่องของโรค วิธีรักษา ผลข้างเคียงจากการรักษา โอกาสการรักษาโรคได้หาย ร่วมกับการยอมรับของครอบครัว จะช่วยให้ผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคมะเร็งได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และเป็นไปตามความปรารถนาของผู้ป่วย ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ พยาบาล และการดูแลเป็นกำลังใจของครอบครัว