คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ผู้ป่วยมะเร็งกับความล้า (Cancer related fatigue)

ความล้า (Fatigue) ในผู้ป่วยมะเร็ง ในที่นี้หมายถึงช่วงกำลงรักษามะเร็งอยู่รวมทั้งในช่วงครบการรักษาใหม่ๆ ประมาณ 3-6 เดือนหลังครบรักษา (ช่วงร่างกายพักฟื้น) หมายถึง ความรู้สึก ล้า อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น อย่างไม่มีเหตุมีผล เป็นอาการเรื้อรังที่เกิดทุกวัน หรือเกือบทุกวัน ซึ่งเป็นอาการพบบ่อยมากในผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัด รองลงไปคือ รังสีรักษา

สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดอาการนี้ ยังไม่แน่ชัด แต่แพทย์เชื่อว่า สาเหตุน่ามาจากทั้งร่างกายและจิตใจ

ก. จากร่างกาย เช่น ภาวะซีด, การกินอาหารมีประโยชน์ได้ลดน้อยลง, จากผลข้างเคียงต่างๆจากการรักษา, จากขาดการออกกำลังกาย, จากพักผ่อนไม่เพียงพอโดยเฉพาะการนอนไม่หลับ, มีการติดเชื้อ, มีอาการปวดเรื้อรังจากโรคมะเร็งแพร่กระจาย, และจากตัวโรคมะเร็งเอง เพราะอาการเหล่านี้ มักพบในผู้ป่วยที่โรคตอบสนองได้ไม่ดีต่อการรักษา หรือมีโรคลุกลามแพร่กระจายในช่วงที่กำลังรักษาอยู่

ข. จากอารมณ์/จิตใจ เช่น ความเครียด ความกลัว ความกังวล ทั้งในเรื่องความไม่แน่นอนของผลการรักษา ด้านการงาน ด้านครอบครัว และด้านเศรษฐกิจ

หลักในการดูแลตนเองที่สำคัญเมื่อมีกลุ่มอาการเหล่านี้ คือ

  • ปรึกษาถึงอาการนี้กับแพทย์ พยาบาลที่ให้การรักษาดูแลโรคมะเร็ง เพื่อแพทย์จะได้หาสาเหตุทางกายซึ่งจะได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสม เช่น การให้เลือด หรือให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อผู้ป่วยมีภาวะซีด หรือการรักษาการติดเชื้อเมื่อมีการติดเชื้อ เป็นต้น
  • มองโลกในด้านบวกเสมอ พูดคุยกับครอบครัว เพื่อนฝูง ไม่เก็บตัว หาโอกาสออกนอกบ้าน
  • พยายามกินอาหารมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ในทุกวัน ถ้ากินได้น้อย ไม่อยากอาหาร ให้ปรึกษาแพทย์ พยาบาล เรื่อง อาหารเสริม วิตามิน เกลือแร่ เสริมอาหาร
  • พยายามออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกๆวัน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะการนอนหลับอย่างเพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดต่างๆ
  • จำกัด เครื่องดื่มมีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ยาชูกำลัง
  • ทำงานเสมอเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งงานบ้าน ไม่อยู่เฉยๆ ไม่หมกมุ่น ช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านเท่าที่จะทำได้เสมอ

อนึ่ง แพทย์ พยาบาลโรคมะเร็งทุกคน ตระหนักได้ดีถึงอาการต่างๆของผู้ป่วย แต่ปัญหาในโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลตามสิทธิ คือ เจ้าหน้าที่มีน้อย ไม่พอเหมาะ กับจำนวนผู้ป่วย ดังนั้น ที่ผู้ป่วยจะช่วยได้ คือ มีการเตรียมตัวก่อนพบแพทย์ เช่น จดคำถามต่างๆที่ต้องการทราบ เพื่อการถามที่รวดเร็ว มีญาติ/เพื่อนร่วมอยู่ด้วยเมื่อพบแพทย์/พยาบาลเพื่อช่วยกันฟัง จะได้จำได้ อ่านบทความเรื่องโรคที่ตนเองเป็นอยู่ จากแหล่งที่เชื่อถือได้ (เช่น มีชื่อผู้เขียน และรู้ว่าผู้เขียนเป็นใคร เป็นแพทย์ หรือคนทั่วไปเขียน เป็นต้น) เพื่อเพิ่มความเข้าใจ เป็นความรู้พื้นฐาน เมื่อพูดคุยกบแพทย์ พยาบาล ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจ รู้เรื่อง และเสียเวลาน้อยลง

แหล่งข้อมูล

  1. Cancer related fatigue http://en.wikipedia.org/wiki/Cancer-related_fatigue [2013,Aug18].
  2. Hofman,M. et al. (2007). Cancer related fatigue. The oncologist.12 (s1), 4s-10s.