คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ทำอย่างไรให้มีสติเมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง

ก่อนอื่นดิฉันขอออกตัวก่อนว่า ถึงแม้จะเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม หรือศึกษาธรรมจนสามารถจะแนะนำสั่งสอนใครๆได้ แต่ที่เล่าให้ฟัง เป็นจากประสบการณ์จากการดูแลผู้ป่วย ซึ่งผู้อ่าน อ่านแล้ว พิจารณาเองก็แล้วกันคะ

จากประสบการณ์ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีสติ รวมทั้งครอบครัวใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีสติ จะช่วยให้ การดูแลตนเองในเรื่องวิธีการรักษา การพบแพทย์ การยอมรับและการเข้าใจในธรรมชาติของโรคมะเร็ง เป็นไปอย่างมีเหตุมีผล มีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่มั่นคง ซึ่งจะส่งผลให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติทั้งในช่วงการวินิจฉัยโรค ขณะรักษา และหลังครบการรักษาแล้ว

ที่สำคัญ การมีสติของผู้ป่วย จะช่วยเกื้อกูลไปถึงคนในครอบครัวที่จะสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ ไม่ดูสับสน และมีความทุกข์ ทุกคนทั้งครอบครัวยังใช้ชีวิตดูแลซึ่งกันและกันได้อย่างน่ายกย่อง น่าชื่นชม ผู้ป่วยเองก็ไม่เป็นภาระของครอบครัวจนเกินไป ครอบครัวก็แบ่งปันเวลาดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี แพทย์ พยาบาล ก็จะมีอารมณ์แจ่มใสในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยตามไปด้วย ซึ่งเหตุการณ์จะตรงกันข้ามเสมอ ถ้าผู้ป่วยและ/หรือครอบครัวผู้ป่วยยังไม่มีสติ

จากที่ผู้ป่วย และ/หรือครอบครัวผู้ป่วยเล่าให้ฟังถึงวิธีที่ทำให้มีสติ เมื่อรู้ว่าตนเอง หรือมีคนใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็ง ดิฉันรวบรวมที่สำคัญได้ดังนี้

  • ยอมรับว่า กลัว วิตก กังวล แต่ต้องสู้ตามแนวทางที่มีเหตุมีผล ตามขั้นตอนทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และเมื่อทำทุกอย่างแล้ว ผลการรักษาจะเป็นอย่างไร ก็ยอมรับ
  • ยอมรับวิธีรักษาที่มีการศึกษา และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่จากความเชื่อ การบอกเล่า หรือตามความฝัน
  • พูดคุยกับครอบครัวถึงปัญหาต่างๆ ช่วยกันวางแผนการรักษา ภาระต่างๆที่อาจเกิดขึ้น วิธีดำเนินชีวิตในช่วงเวลาเหล่านี้ และวิธีที่จะช่วยกันแก้ไข
  • ยอมรับรู้ถึงธรรมชาติของโรคมะเร็งที่ตนเป็นอยู่ การลุกลามของโรค เพื่อการวางแผนในการรักษา และในการดำเนินชีวิต
  • ยังคงเป็นที่พึ่งของครอบครัว ในการตัดสินใจการรักษาด้วยตนเอง
  • ระลึกอยู่เสมอว่า ครอบครัวเองก็มีความทุกข์ ความวิตกกังวล ความกลัว พอๆกับตนเอง ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะช่วยดูแลซึ่งกันและกัน ช่วยกันผ่อนคลายความกลัว ความกังวล และจะช่วยได้มาก ถ้าเรา/ผู้ป่วยไม่สับสน ตัดสินใจได้ เข้าใจวิธีรักษา เมื่อแพทย์พูดคุยด้วย ก็จะสามารถตัดสินใจเลือกแนวทางรักษาได้ ไม่ผลักภาระให้ครอบครัว ตัดสินใจ
  • ตัดสินใจวิธีรักษาเอง ไม่ผลักภาระให้ครอบครัวตัดสินใจ เพราะเป็นตัวเราเอง การรับผิดชอบตนเอง จะแบ่งเบาภาระครอบครัวได้มากที่สุด เพราะถ้าครอบครัวเลือก เมื่อผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่หวัง ครอบครัวมักรู้สึกผิด บางคนรู้สึกผิดไปจนตลอดชีวิต
  • เมื่อแพทย์ยืนยันผลการรักษาว่า ไม่มีโอกาสหาย การตัดสินใจเมื่อถึงระยะสุดท้ายบั้นปลายของโรค ว่าต้องการรักษาด้วยวิธีใด ต้องการยื้อความตาย ด้วยการช่วยการหายใจ หรือปั้มหัวใจขึ้นมาอีกภายหลังการหยุดหายใจ เป็นความประสงค์ของผู้ป่วยหรือไม่ การตัดสินใจข้อนี้เอง เป็นการปลดทุกข์ให้กับความรู้สึกผิดของ ครอบครัว ลูกหลานไปจนตลอดชีวิตของทุกๆคน ทั้งนี้ชีวิตของเรา เราควรได้ตัดสินใจเอง
  • นึกถึงความสงบสุขของครอบครัวร่วมด้วยเสมอ เมื่อเราช่วยเรื่องอื่นไม่ได้อีกแล้ว ก็ช่วยแบ่งเบาด้านอารมณ์/จิตใจของผู้อื่น ซึ่งในที่สุดก็จะย้อนกลับมาเป็นความสงบในบ้าน ในครอบครัว และของตัวเราเอง