คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การฟื้นฟูร่างกายและจิตใจตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยโรคมะเร็ง

ผู้อ่านคงทราบแล้วจากการคุยกันในตอนแรกๆในเรื่องขั้นตอนของการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ซึ่งใช้ระยะเวลาหนึ่ง อาจนานถึง 1-3 เดือนก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโรคมะเร็ง ดังนั้น จึงมีการศึกษาทางการแพทย์มากมายที่ศึกษาว่า ถ้าในช่วงเวลานี้ ได้มีการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยด้วยวิธีการทางการแพทย์อย่างจริงจังจะส่งผลอย่างไรต่อผู้ป่วยบ้าง

ในเดือนสิงหาคม ปีนี้เอง (พ.ศ. 2556) Silver,J และ Baima,J จาก ฮาร์วาด (Harvard Medical School) ได้มีการศึกษาโดยรวบรวมการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ (Review article)ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยโรคต่างๆมากกว่า 5000 การศึกษาทั่วโลก ในการนี้เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งประมาณ 1000 การศึกษา (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002) ซึ่งให้ผลตรงกันถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยมะเร็งจะได้รับจากการให้การฟื้นฟูทางการแพทย์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจผู้ป่วย ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อสงสัยเป็นมะเร็ง และในช่วงเวลาที่กำลังให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง รวมทั้งช่วงเวลาระหว่างการสืบค้นหาระยะโรคมะเร็งด้วย (ก่อนเริ่มการรักษา) ซึ่งคือของการศึกษา คือ “คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นมาก โอกาสรักษาได้ครบถ้วนตามแผนการรักษามะเร็งของแพทย์สูงขึ้น ลดผลข้างเคียงจากการรักษาทั้งในขณะรักษาและในระยะยาวภายหลังการรักษาลงได้ และมีแนวโน้มที่ผลการรักษาและอัตรารอดจากโรคมะเร็งจะสูงขึ้น”

การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจผู้ป่วยช่วงก่อนรักษานี้ ประกอบด้วยการประเมินสุขภาพกายและสุขภาพจิตผู้ป่วย และให้การดูแล รักษา ฟื้นฟู ป้องกัน โรคหรือภาวะ หรือ อาการผิดปกติ หรือที่มีแนวโน้มที่จะผิดปกติ เช่น การดูแลการทำงานของ หัวใจ ปอด ไต ตับ ไขกระดูก และการดูแลในเรื่องซึมเศร้า แนะนำการอดบุหรี่ สุรา และสารเสพติดต่างๆ รวมทั้งปัญหาครอบครัวโดยเฉพาะที่จะเกิดขึ้นในช่วงการรักษา โดยใช้การออกกำลังกาย และการใช้กายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟูเข้ามาร่วมด้วย

ทั้งนี้ ผู้ศึกษาได้สรุปว่า ทางการแพทย์ควรจะเข้ามาดำเนินการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้วิธีการในการที่จะฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพเหมาะสม ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ การเข้าถึงของผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งของผู้ป่วยและของโรงพยาบาลเมื่อให้บริการนี้

ในความเห็นของดิฉันเอง เมื่อตระหนักถึงข้อดีเหล่านี้แล้ว ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยโรคมะเร็ง ก็ควรเริ่มต้นดูแลผู้ป่วยได้เลย ไม่ต้องรอบริการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยการ

  • รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พูดคุยกันในครอบครัวเพื่อให้เกิดความเข้าใจและการดูแลซึ่งกันและกันโดยเฉพาะในปัญหาชีวิต
  • สะสางงานต่างๆเพื่อจะได้มีเวลารับการรักษามะเร็งตามตารางที่แพทย์กำหนด
  • ออกกำลังกายพอควรกับสุขภาพทุกวัน
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน จำกัด แป้ง น้ำตาล ไขมัน เพิ่มผัก ผลไม้
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ถ้าไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • ดูแลรักษาควบคุมโรคประจำตัวที่มีอยู่
  • พยายามค่อยๆลด เลิก บุหรี่ สุรา สารเสพติดทั้งหลาย
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่จะก่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะที่เป็น อโคจรทั้งหมด

แหล่งข้อมูล:

  1. Silver,J., and Baima,J. (2013). Cancer prehabilitation. Am J Physical Medicine & Rehabilitation. 92, 715-727.