คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: แพทย์หรือพยาบาลที่รักษาโรคมะเร็งเจ็บป่วยเป็นโรคอะไรกันบ้าง?

วันนี้เราเรื่องเบาๆ แต่น่ารู้นะคะว่า แพทย์ พยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง คือ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง และแพทย์ทางรังสีรักษา ที่ให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง มีการเจ็บป่วยเป็นโรคอะไรกันบ้าง

โดยทั่วไป บุคลากรทั้ง 2 กลุ่มนี้ ก็จะมีโรคภัยไข้เจ็บ เช่นเดียวกับประชากรทั่วไป คือ โรคตามฤดูกาล เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ อาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก หรือโรคมะเร็งต่างๆตามปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกับคนทั่วไป ไม่แตกต่างกัน แต่มีอยู่โรคหนึ่ง ที่มักพบใน แพทย์ด้านโรคมะเร็ง ไม่ค่อยพบในคนทั่วไป คือ โรคที่เรียกว่า กลุ่มอาการ Burnout syndrome ย่อว่า โรค BOS

ทั้งนี้มีการศึกษาพบว่า แพทย์สาขานี้ มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้สูงกว่าแพทย์พยาบาลสาขาอื่นๆ โดยแพทย์ สาขาอื่นๆที่มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้สูง เช่นกัน คือ ในสาขาจิตเวช และแพทย์ที่ประจำทำงานในหอผู้ป่วยวิกฤติ หรือ ไอซียู(ICU, Intensive care unit)

มีการศึกษา พบกลุ่มอาการ Burnout ในอายุรแพทย์โรคมะเร็ง และแพทย์รังสีรักษาได้ประมาณ 30-35% ของแพทย์ทั้ง 2 กลุ่มนี้

กลุ่มอาการ Burnout คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากปัญหาทางด้านอารมณ์/จิตใจที่เกิดจากการทำงาน จนส่งผลกระทบถึงประสิทธิภาพการทำงาน เกิดอาการผิดปกติต่างๆ รวมทั้งโรคเรื้อรังต่างๆ

  • ปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ เช่น ซึมเศร้า หดหู่ หงุดหงิดง่าย เบื่อหน่าย เหนื่อยล้าเกินเหตุ ขาดความสนใจในคนรอบข้าง มีปัญหากับเพื่อน/ผู้ร่วมงาน และมองโลกในด้านลบ
  • อาการผิดปกติเรื้อรัง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องผูกสลับท้องเสีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดหลังเรื้อรัง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสู ง ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย เป็นโรคภูมิแพ้ อาการมักเป็นมากจนมักเป็นสาเหตุให้ต้องหยุดงานบ่อยๆ

กลุ่มอาการ Burnout เกิดได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย และมักพบในช่วงอายุ 27-40 ปีเพราะเป็นช่วงอายุที่ปรับตัวกับงานยังไม่ได้ และ/ยังไม่มีประสบการในการทำงาน

กลุ่มอาการ Burnout มีสาเหตุจากลักษณะของงาน เป็นงานที่หนัก ขาดแคลนบุคลากรในการปฏิบัติงาน ผลการรักษามักไม่ดีเท่าที่ควร แพทย์คาดหวังผลในการรักษาสูงกว่าความเป็นจริง ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยคาดหวังในการรักษาสูงกว่าความเป็นจริง หัวหน้างานไม่สนับสนุนงาน ไม่มีผู้ให้คำปรึกษาในการทำงาน และค่าตอบแทนในการทำงานต่ำกว่าควร

แนวทางการรักษาโรคนี้ คือ ผู้บริหารต้องเข้าใจ และปรับปรุงระบบการทำงาน รวมทั้งหาทางช่วยเหลือให้สามารถมีการพักผ่อนจากการทำงานที่พอเพียง รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกา จะมีแพทย์ด้านโรคมะเร็งกลุ่มหนึ่งที่จะทำงานไม่ประจำ แต่จะรับทำงานแทนเฉพาะในช่วงที่แพทย์โรคมะเร็งลาพักงานคะ

ทั้งนี้แพทย์รังสีรักษาในสหรัฐอเมริกา จะมีระบบการทำงานที่จะดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ไม่เกิน 250-300 คนต่อปีต่อแพทย์รังสีรักษาที่ไม่ใช่ผู้บริหาร 1 คน แต่ในบ้านเรา แพทย์รังสีรักษา 1 คน อาจจะต้องดูแลผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ ประมาณ 800-900 คน หรือมากกว่า ต่อปีคะ

ยังคิดไม่ออกเลยคะว่า ครั้งน่า จะเล่าเรื่องอะไรให้ฟัง แต่มีเรื่องเล่าแน่นอน ผ่านวัยที่จะเกิด Burnout แล้วคะ

บรรณานุกรม:

  1. Demirci,S. et al. (2010).Evaluation of burnout syndrome in oncology employees. Med Oncol.27,968-974. [PubMed].
  2. Tait Shanafelt and Lotte Dyrbye (2012).Oncologist Burnout: Causes, Consequences, and Responses. JCO.30,1235-1241.[PubMed].
  3. Burnout (Psychology)