ผลการรักษาด้วยรังสีรักษาIMRTในผู้ป่วยมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอโดยไม่ทราบอวัยวะต้นกำเนิด

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-308

      

      มะเร็งที่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโดยแพทย์ไม่สามารถหาได้ว่า เป็นมะเร็งที่ลุกลามมาจากอวัยวะใด ซึ่งเรียกว่า Carcinoma metastatic to the neck node from an unknown primary พบได้ประมาณ2-9%ของมะเร็งที่พบเกิดบริเวณศีรษะและลำคอ โดย90%จะเป็นเซลล์มะเร็งชนิด Squamous cell carcinoma(SCC) และมักพบเกิด2ข้างของลำคอ แต่ขนาดต่อมน้ำเหลืองที่แต่ละข้างของลำคอจะมีขนาดไม่เท่ากัน โดยมีขนาดตั้งแต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าไปจนถึงขนาด6-10ซม.หรือมากกว่า 10ซม. และต่อมาถ้าพบอวัยวะต้นกำเนิด มักพบว่าเกิดจาก มะเร็งโพรงหลังจมูก และมะเร็งคอหอยส่วนปาก การรักษาหลักของมะเร็งกลุ่มนี้ คือ การฉายรังสีรักษาที่มักครอบคลุมต่อมน้ำเหลืองทั้ง2ข้างของลำคอและอวัยวะส่วนโพรงหลังจมูกและคอหอยส่วนปาก และอาจร่วมกับ การผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านนั้นออกและ/หรือยาเคมีบำบัด ซึ่งการรักษาร่วมกับวิธีต่างๆนั้น แพทย์จะประเมินจาก ชนิดของเซลล์มะเร็ง และความรุนแรงของโรคมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง(ระยะโรคมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง)

      ปัจจุบัน การรักษามะเร็งกลุ่มนี้ด้วยการฉายรังสีรักษา แพทย์มักใช้การฉายด้วยเทคนิค3มิติ ซึ่งมีได้หลากหลายเทคนิค คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จาก เท็กซัส สหรัฐอเมริกา นำโดย พญ. Mona Kamal จาก The University of Texas MD Anderson Cancer Center, Houston, Texas หรือ มักเรียกว่า MD Andersonต้องการทราบว่า มะเร็งกลุ่มนี้ที่ โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอโดยแพทย์หาอวัยวะต้นกำเนิดไม่พบนี้ มีผลการรักษาอย่างไร เมื่อรักษาด้วยการฉายรังสีด้วยเทคนิคIMRT(IMRT/ Intensity-modulated radiotherapy คือ เทคนิคที่แพทย์สามารถปรับ ปริมาณรังสีณตำแหน่งเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้ เพื่อลดผลข้างเคียงจากรังสีต่ออวัยวะปกติ และเพื่อเพิ่มปริมาณรังสีต่อรอยโรค) ซึ่งผลการศึกษานี้ได้รายงานในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 1 เมษายน 2018

      การศึกษานี้เป็นการศึกษาจากข้อมูลผู้ป่วยโรงพยาบาลMD Anderson เป็นการศึกษาย้อนหลัง โดยผู้ป่วยได้รับการฉายรังสีรักษาIMRT ครอบคลุมลำคอทั้ง2ข้างร่วมกับ อวัยวะคอหอยและกล่องเสียง78ราย, ร่วมกับอวัยวะส่วนโพรงหลังจมูกและคอหอยส่วนปาก 167 ราย, และ 11 รายได้รับการฉายรังสีเฉพาะบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่เป็นรอยโรค ทั้งนี้ไม่มีการระบุว่า ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดร่วมด้วยหรือไม่ และกี่ราย แต่ระบุว่ามีผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อที่ลำคอออกทั้งหมดร่วมด้วย 84 ราย

      ผลการศึกษาพบว่า ยิ่งโรคที่ต่อมน้ำเหลืองที่คอรุนแรง/มีขนาดใหญ่ ผลการรักษาจะไม่ดี แต่ในภาพรวม ผลการรักษาที่ระยะ 5 ปี คือ

      -อัตรารอดของผู้ป่วย = 84%

      -อัตราการควบคุมโรคที่ลำคอ= 91%

      -อัตราปลอดจากโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิต= 94%

      และเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการฉายรังสีรักษาครอบคลุมต่อมน้ำเหลืองลำคอทั้ง2ข้างร่วมกับโพรงหลังจมูกและคอหอยส่วนปาก คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า การรักษาที่ครอบคลุมเนื้อที่ดังกล่าวให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และการศึกษานี้ครอบคลุมเฉพาะการรักษาจากรังสีรักษาเท่านั้น ไม่ได้ศึกษาครอบคลุมถึงผลการรักษาจากการให้ยาเคมีบำบัด และ/หรือการผ่าตัดที่ใช้ร่วมด้วย จึงไม่สามารถระบุได้ว่า การรักษาทั้ง2วิธีนั้น ส่งผลอย่างไรต่อการควบคุมโรคและ/หรืออัตรารอดจากโรคมะเร็งกลุ่มนี้

      อนึ่ง ในบ้านเรา การรักษามะเร็งกลุ่มนี้ ก็มีแนววิธีรักษาเช่นเดียวกับในการศึกษาครั้งนี้เช่นกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer 2018;124(7):1415‐27 (abstract)
  2. https://emedicine.medscape.com/article/848892-overview#showall [2018,Dec6]