คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนมะเร็งทวารหนักกับระดับภูมิคุ้มกันต้านทานโรค

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-301

      

      ปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีป่วยด้วยมะเร็งทวารหนักเพิ่มขึ้น แพทย์จึงต้องการทราบว่า การมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องส่งผลต่อการรักษามะเร็งทวารหนักอย่างไร

      การศึกษานี้ เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์ที่นำโดย นพ. Alex K. Bryant แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจาก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย California, San Diego, La Jolla, California สหรัฐอเมริกา โดยเป็นการศึกษาย้อนหลัง(Retrospective cohort study)ในผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักที่ติดเชื้อเอชไอวีที่โรคยังมีโอกาสรักษาได้หาย คือระยะโรคมะเร็งฯอยู่ที่ ระยะที่1-3ในช่วงค.ศ.2000-2015 ที่มีผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักที่ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด 142 ราย ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาเพื่อหวังผลหายขาดด้วยการรักษาร่วมกันระหว่างรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด ทั้งนี้โดยการ ศึกษาจากระดับ CD4ซึ่งเป็นค่าที่บอกถึงสภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายทั้งก่อนรักษาและหลังการรักษา การศึกษานี้รายงานในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา ชื่อ International Journal of Radiation Oncology Biology and Physics เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018

      ผลการรักษาพบว่า ค่า มัธยฐาน(Median)ของCD4 ทั้งก่อนรักษาคือ 375 cells/mm3(เซลล์/มม3) และหลังรักษาจะลดลงเป็น 157 cells/mm3 ซึ่งพบว่าทุกๆระดับCD4ที่ลดลงทุกๆ100-cell/mm3ในระหว่างการรักษา จะเป็นตัวเพิ่มผลข้างเคียงเฉียบพลันของระบบโรคเลือดอย่างมีความสำคัญทางสถิติ (P=.04)จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาผลข้างเคียงนั้นๆในโรงพยาบาล อย่างมีความสำคัญทางสถิติเช่นกัน (P=.049) แต่ทั้งนี้ ค่า CD4 ระหว่างรักษาที่ลดลงทุกๆ 100 cell/mm3 ไม่สัมพันธ์อย่างมีความสำคัญทางสถิติกับ การเกิดผลข้างเคียงเฉียบพลันของระบบทางเดินอาหาร อัตราการเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ และอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งทวารหนัก(P>.05) แต่ค่า CD4หลังรักษาทุกๆ 100 cell/mm3 จะเพิ่มโอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำอย่างมีความสำคัญทางสถิติ (P=.01) แต่ไม่เพิ่มอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งนี้อย่างชัดเจน(P=.06) และยังพบว่า อัตราที่ลดลงของCD4ทั้งก่อนรักษา ระหว่างรักษา และหลังรักษา ไม่มีความสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงต่อการต้องรักษาด้วยการผ่าตัดลำไส้มาไว้หน้าท้อง/ทำทวารเทียม และ/หรือเกี่ยวพันกับอัตราอยู่รอดจากโรคมะเร็งอย่างมีความสำคัญทางสถิติ (P=.06)ทั้ง2กรณี

      คณะผู้ศึกษาได้สรุปว่า อัตราการลดลงระหว่างรักษาของCD4จะสัมพันธ์กับการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงของระบบโรคเลือด ส่วนอัตราการลดลงของCD4 หลังครบการรักษาจะเป็นตัวบอกว่าโอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำจะสูงขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. International Journal of Radiation Oncology Biology and Physics 2018;100(2):478 (abstract)
  2. http://haamor.com/th/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81/ [2018,July21]