คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองหลังผ่าตัด

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-298

      

      

      เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง/เนื้องอกสมองชนิดที่เรียกว่า Meningioma เป็นเนื้องอกสมองที่พบได้บ่อยประมาณ 2-6 รายต่อประชากร 1แสนคน พบเป็นประมาณ 30%ของเนื้องอกสมองทั้งหมด ส่วนใหญ่ไม่ใช้เนื้องอกมะเร็ง แต่โรคพบย้อนกลับเป็นซ้ำได้เสมอ มักพบในคนอายุตั้งแต่45ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชายประมาณ 1.5-2เท่า เป็นโรคที่มีอัตรารอดชีวิตที่สูง โดยในคนอายุน้อยจะมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่าในคนอายุมาก เฉลี่ยอัตรารอดที่ 5 ปีจะประมาณ 70-90% และเนื้องอกนี้ ถ้าไม่ใช่ชนิดเป็นมะเร็ง การรักษาจะโดยการผ่าตัดเพียงวิธีการเดียว

      ดังได้กล่าวว่า โรคนี้ ทั่วไปเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีการพยากรณ์โรคที่ดี แพทย์จึงต้องการทราบว่า ผู้ป่วยเนื้องอกชนิดนี้ที่ไม่ใช่เนื้องอกมะเร็ง หลังผ่าตัดผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตต่างจากคนทั่วไปหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในระยะยาว

      การศึกษานี้เป็นการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา โดยนักระบาดวิทยาและคณะแพทย์ที่นำโดยนักระบาดวิทยา Luke S. Benz จาก Yale School of Public Health, Yale University, New Haven, Connecticut โดยเป็นการศึกษาแบบ Population-based, case-control study จากข้อมูลจากโรงพยาบาลในผู้ป่วยโรคนี้ทุกเพศ และทุกวัย 1,722 รายที่เป็นผู้ป่วยในมลรัฐ Connecticut, Massachusetts, California, Texas, and North Carolina ช่วง 1พฤษภาคม ค.ศ. 2006-14มีนาคม2013 เปรียบเทียบกับประชากรทั่วไป(กลุ่มควบคุม) 1,622 คนในมลรัฐเดียวกัน และที่มีข้อมูลทางกายภาพเหมือนกัน เช่น เพศ อายุ โรคประจำตัว ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลต่างๆแม่นยำ จึงได้มีการเก็บข้อมูลทางโทรศัพท์กับกลุ่มผู้ศึกษาทั้ง2กลุ่มร่วมอีกด้วย ส่วนข้อมูลด้านคุณภาพชีวิตที่ต้องการศึกษา ครอบคลุมทั้ง ทางด้านร่างกาย ด้านการดำเนินชีวิต และด้านจิตใจ

      ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองหลังผ่าตัดรักษา มีคุณภาพชีวิตด้อยกว่าคนทั่วไปทั้งในด้านร่างกาย การดำเนินชีวิต และด้านจิตใจ และเป็นความต่างกันที่มีนัยสำคัญทางสถิติและในทางคลินิก

      การศึกษานี้ จึงเป็นข้อมูลเริ่มต้น ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะต้องนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อหาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย เพื่อการรักษาดูแลเยียวยาผู้ป่วยในระยะยาว เพื่อให้ผู้ป่วยที่รอดชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงคนทั่วไปมากที่สุด

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer 2018;124:161-6