คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-295

      

      

      ปัจจุบัน ทางการแพทย์พบว่า การติดเชื้อไวรัสเอชพี(HPV)ที่เป็นไวรัสที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ทั้งในแบบปกติและ/หรือทางปาก/และ/หรือชายรักชาย/หญิงรักหญิงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดคาร์ซิโนมาที่เรียกว่า Squamous cell carcinoma(SCC) เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศหญิง มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย/มะเร็งลำไส้ตรงและมะเร็งคอหอยส่วนปาก โดยในสหรัฐอเมริกาพบมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีสูงขึ้นทุกปีโดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุน้อย ซึ่งปัจจุบันมะเร็งชนิดต่างๆที่เกิดจากเอชพีวีหรือเกิดจากสาเหตุต่างๆจะมีอาการโรค การวินิจฉัย วิธีรักษาเหมือนกัน แพทย์จึงต้องการทราบว่า ในมะเร็งที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี มีอัตรารอดที่5ปีเป็นอย่างไร และมีปัจจัยทางด้านประชากรที่ต่างกันในกลุ่มประชาชนที่เป็นมะเร็งหรือไม่ เพราะการติดเชื้อเอชพีวีในปัจจุบันมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่ประชากรอเมริกันได้รับอยู่ในระบบสาธารณสุขของประเทศ ทั้งชาย และหญิงตั้งแต่อายุช่วง ประมาณ 9-12 ปี

      คณะนักระบาดวิทยาและแพทย์จาก องค์การ CDC(Centers for Disease Control and Prevention)ของสหรัฐอเมริกา ณเมือง Atlanta, Georgia, สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาเพื่อดูอัตรารอดที่5ปีของผู้ป่วยมะเร็งที่ติดเชื้อเอชพีวีว่าเป็นอย่างไร และอัตรารอดมีความเกี่ยวพันธ์กับ อายุ เพศ และเชื้อชาติหรือไม่ เพื่อจะนำไปเป็นแนวทางเข้าถึงประชากรกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับวัคซีนเอชพีวีอย่างทั่วถึงในช่วงวัยที่วัคซีนมีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันโรคมะเร็งกลุ่มนี้ และการศึกษานี้ได้รายงานในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 1 มกราคม 2018

      การศึกษานี้นำโดย Dr. Hilda Razzaghi จาก CDC สหรัฐอเมริกา โดยเป็นการศึกษาข้อมูลจากทะเบียนมะเร็งทั่วสหรัฐ 27 แห่งที่ครอบคลุม 59%ของประชากรสหรัฐ ซึ่งการศึกษานี้เป็นการศึกษาข้อมูลทั้งหมดช่วง ค.ศ. 2001-2011 โดยผู้ป่วยได้รับการติดตามผลจนถึงค.ศ. 2011 ในการนี้มีผู้ป่วยมะเร็งSCCที่มีเอชพีวีเป็นสาเหตุทั้งหมด 220,211ราย เป็นคนผิวขาว 83% และเป็นเพศหญิง 32.7% ซึ่งโรคมะเร็งทั้งหมดได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศหญิง มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย/มะเร็งลำไส้ตรง และมะเร็งคอหอยส่วนปาก

      ผลการศึกษาพบว่า อัตรารอดที่5ปีของมะเร็งSCCที่เกิดจากเอชพีวีไม่ต่างจากที่ไม่ได้เกิดจากเอชพีวี โดยอัตรารอดที่5ปีของมะเร็งทุกระยะโรคเป็นดังนี้ มะเร็งปากมดลูก= 64.2%, มะเร็งช่องคลอด=52.8%, มะเร็งอวัยวะเพศหญิง=66%, มะเร็งอวัยวะเพศชาย=47.4%, มะเร็งทวารหนัก=65.9%, มะเร็งลำไส้ตรง=56.2%, มะเร็งคอหอยส่วนปาก=51.2% และพบว่า อัตราการรอดชีวิตจะสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กรณีพบโรค/รักษาเมื่อโรคยังอยู่ในระยะต้นๆที่ยังไม่มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองหรือยังไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต นอกจากนั้นยังพบว่า อัตราการรอดชีวิตจะดีกว่ามากในผู้ป่วยผิวขาวเมื่อเปรียบเทียบกับในผู้ป่วยผิวดำ และอัตรารอดชีวิตอาจแตกต่างกันได้ในเพศหญิงและเพศชาย ที่รวมถึงในกลุ่มอายุต่างๆกัน ทั้งนี้ขึ้นกับระยะโรคที่ตรวจพบแต่แรกเป็นสำคัญ

      คณะผู้ศึกษาจึงมีความเห็นว่า อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี ขึ้นกับระยะโรคเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ดังนั้นการรณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่รวมไปถึงการให้ความรู้ประชากรในการพบแพทย์ตั้งแต่แรกมีอาการผิดปกติ จึงเป็นเรื่องมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ควบคุมโรคมะเร็งกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer 2018;124:203-211