คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนสถิติอัตรารอดจากมะเร็งตับของสหรัฐอเมริกา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-291

      

      

      การศึกษาทางโรคมะเร็งสามารถทำได้ในระดับแต่ละโรงพยาบาลซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาลักษณะนี้จะมีความถูกต้องเฉพาะเป็นกรณีไป ไม่ใช่ภาพรวมของทั้งประเทศ ทั้งนี้การศึกษาที่ได้จากการจัดทำทะเบียนมะเร็ง(Cancer registry)ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าจัดทำเฉพาะแต่ละโรงพยาบาลก็จะได้ข้อมูลเฉพาะแต่โรงพยาบาลนั้นๆ เรียกว่า Hospital base cancer registry แต่ถ้าต้องการข้อมูลที่แม่นยำขึ้นจะเป็นการศึกษาในระดับชุมชนหรือระดับประเทศ จะเรียกว่า Population base cancer registry

      การศึกษาอัตรารอดของผู้ป่วยมะเร็งตับครั้งนี้ เป็นการศึกษาจาก Population base cancer registry ของสหรัฐอเมริกา ช่วง ค.ศ. 2001-2009 โดยเป็นข้อมูลจากโครงการศึกษาร่วมที่ชื่อ “The CONCORD-2 Study” การศึกษานี้รายงานในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 15 ธันวาคม 2017 คณะผู้ศึกษานำโดย นักระบาดวิทยาชื่อ Behnoosh R. Momin จาก National Center for Chronic Disease Prevention and Health Promotion, CDC Atlanta สหรัฐอเมริกา

      ผลการศึกษาพบว่าอัตรารอดชีวิตที่5ปีของผู้ป่วยมะเร็งตับในสหรัฐอเมริกาในช่วง ค.ศ 2001-2003 เป็น12.2%และเพิ่มเป็น 14.8%ในช่วง ค.ศ2004-2009 และในช่วง 2004-2009 อัตรารอดที่5ปีของผู้ป่วยมะเร็งตับในโรคระยะจำกัดเฉพาะที่คือ 25.7%, ในโรคระยะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองคือ 9.5%, และในโรคระยะแพร่กระจายทางกระแสโลหิตคือ 3.5%

      คณะผู้ศึกษาได้สรุปว่า ถึงแม้อัตรารอดของผู้ป่วยในโรคมะเร็งตับระยะจำกัดเฉพาะที่จะดีกว่าในโรคฯระยะอื่น แต่ก็ยังจัดว่าเป็นอัตรารอดที่ต่ำมากอยู่ดี และจากการศึกษาที่พบว่ามะเร็งตับในสหรัฐอเมริกา มีปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ดังนั้นคณะผู้ศึกษาจึงมีความเห็นว่า การควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบบี ที่ควบคุม ดูแลรักษาและมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา น้อยกว่ามะเร็งตับมาก น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าในการควบคุมดูแลรักษามะเร็งตับให้ได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer 2017;123:5059-78