คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน สถิติอัตรารอดจากมะเร็งรังไข่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-290

      

      

      การศึกษาอัตรารอดของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ เป็นการศึกษาจาก Population base cancer registry ช่วง ค.ศ. 2001-2009 โดยเป็นข้อมูลจากโครงการศึกษาร่วมที่ชื่อ “The CONCORD-2 Study” การศึกษานี้รายงานในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 15 ธันวาคม 2017 คณะผู้ศึกษานำโดย Dr. Sherri L. Stewart นักวิทยาศาสตร์จาก National Center for Chronic Disease Prevention and Health Promotion, CDC Atlanta สหรัฐอเมริกา การศึกษานี้ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ช่วงอายุ15-99ปี

      ผลการศึกษาพบว่าช่วงปีค.ศ. 2001-2009สหรัฐฯมีผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ 172,849 รายซึ่งจำนวนนี้ มากกว่าครึ่งมาพบแพทย์ในโรคระยะที่มีการแพร่กระจายทางกระแสโลหิตแล้ว โดยในช่วง 2001-2003 พบอัตรารอดชีวิตที่5ปีของผู้ป่วยรวมทุกระยะโรคคือ 39.6% และช่วงปี 2004-2009 เพิ่มขึ้นเป็น 41% โดยช่วงปี 2004-2009 อัตรารอดฯ คือ 86.4%ในโรคระยะจำกัดเฉพาะที่, 60.9%ในโรคระยะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง, และ 27.4%สำหรับโรคระยะแพร่กระจายทางกระแสโลหิต

      คณะผู้ศึกษาสรุปว่า จากการศึกษา อัตรารอดของมะเร็งรังไข่ขึ้นอยู่กับระยะโรคอย่างชัดเจน และสาเหตุที่ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่มักมาพบแพทย์ในโรคระยะลุกลามแพร่กระจายเป็นเพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคนี้ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มเป็น ดังนั้นทางการแพทย์ต้องร่วมมือกันศึกษาวิจัยให้ได้วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ในโรคระยะแรกๆ ซึ่งด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่จะเพิ่มอัตรารอดฯของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer 2017;123(s24):5138-59