คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบวิธีรักษามะเร็งโพรงหลังจมูกระยะลุกลามเฉพาะที่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-285

      

      มะเร็งโพรงหลังจมูก เป็นมะเร็งพบได้เรื่อยๆทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง โดยในประเทศไทยพบในผู้ชายได้ 3.1 รายต่อชายไทย1แสนคน และพบในหญิงไทย1.1รายต่อหญิงไทย1แสนคน ทั่วโลกพบโรคนี้ได้น้อยประมาณ 1รายต่อประชากร 1แสนคน แต่เป็นโรคพบได้สูงมากในคนจีนตอนใต้ โดยมีรายงานพบได้ 25รายต่อประชากรจีน 1 แสนคน สูงกว่าทั่วโลกถึง 25 เท่า โรคนี้เป็นโรคของผู้ใหญ่วัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พบได้น้อยในเด็ก มะเร็งโพรงหลังจมูกส่วนใหญ่ เป็นมะเร็งในกลุ่ม Carcinoma ชนิด Non-keratinizing carcinoma มะเร็งชนิดนี้เป็นมะเร็งที่อยู่ในตำแหน่งที่ผ่าตัดได้ยาก การรักษาหลักในโรคระยะแรกจะเป็นการฉายรังสัรักษา(รังสีฯ) แต่ในระยะที่พบโรคได้สูงคือโรคระยะลุกลามเฉพาะที่ ที่โรคยังไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ(Locally advanced stages) คือระยะ T1-4/N2-3/M0 ซึ่งการรักษา มี 2 วิธีหลัก คือ รังสีฯวิธีเดียว; รังสีฯร่วมกับยาเคมีบำบัด(เคมีฯ)ในเวลาเดียวกัน+เคมีฯหลังครบรังสีฯอีกประมาณ 2-4 รอบ(Concurrent RT+ยา Cisplatin และเมื่อครบรังสีแล้ว ยาเคมีฯจะเป็น Cisplatin+5FU ขอย่อว่า รังสีฯ+เคมีฯ) ซึ่งแพทย์ต้องการทราบว่า ในระยะยาวคือ 10ปีขึ้นไปหลังวินิจฉัยโรคนี้ได้ วิธีรักษาแบบใด ให้ผลการรักษาดีที่สุด และผลข้างเคียงจากการรักษาในระยะ 10 ปีจะต่างจากผลข้างเคียงในระยะหลังครบรักษาไม่เกิน 5 ปีหรือไม่

      การศึกษานี้ เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์ในฮ่องกง ที่นำโดย พญ. Anne W. M. Lee แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง โรงพยาบาล University of Hong Kong and University of Hong Kong Shenzhen Hospital, Hong Kong และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 1พฤศจิกายน ค.ศ. 2017

      การศึกษานี้เป็นการศึกษาระยะที่3(PhaseIII) แบบสุ่มตัวอย่างและเป็นการศึกษาเปรียบเทียบ(Phase 3 randomized trial)เปรียบเทียบวิธีรักษาทั้ง 2 วิธี ในการนี้ มีผู้ป่วยที่ได้รับรังสีฯเพียงวิธีเดียว 176 ราย; และ 172 ราย ได้ รังสีฯ+เคมีฯ ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมด ติดตามผลการรักษานานอย่างน้อย 10 ปี ผลการศึกษาพบว่า ที่ระยะเวลา 10 ปี อัตรารอดชีวิต(Overall survival, OS)ของผู้ป่วยที่ใช้รังสีฯ+เคมีฯดีกว่ากลุ่มที่ใช้รังสีฯอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ 62% ต่อ 49% (p = 0.047); อัตราไม่มีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ(Overall failure free) 62%ในกลุ่มได้รังสีฯ+เคมีฯ ต่อ 50%ในกลุ่มได้รังสีฯอย่างเดียว โดยต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p= .01); และผลการควบคุมโรคมะเร็งที่ตำแหน่งโพรงหลังจมูกและที่ต่อมน้ำเหลืองที่คอของผู้ป่วยที่ได้รังสีฯ+เคมีฯก็ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน คือ 87% ต่อ 74% (p=0 .003); แต่ผู้ป่วยทั้ง2วิธีรักษา มีอัตราการควบคุมโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นไม่ต่างกันทางสถิติคือ 68% ต่อ 65% (p= 0.24); ส่วนในด้านผลข้างเคียงจากการรักษาที่10ปีหลังการรักษาระหว่างผู้ป่วยทั้ง 2กลุ่มวิธี ก็ไม่ต่างกันทางสถิติโดยประเมินจากอัตราการเสียชีวิตจากผลข้างเคียงจากการรักษา คือ 4.1%ในกลุ่มเคมีฯ+รังสีฯ ต่อ 2.8%ในกลุ่มได้รังสีวิธีเดียว(p= 0.20)

      คณะผู้ศึกษา สรุปว่า การรักษามะเร็งโพรงหลังจมูกชนิดNon-keratinizing carcinoma ในโรคระยะลุกลามเฉพาะที่ การใช้รังสีฯ+เคมีฯ ให้ผลการรักษาที่ดีกว่า รังสีฯเพียงวิธีเดียว แต่แพทย์ก็ยังควรต้องศึกษาหาวิธีรักษาใหม่ ที่จะเพิ่มประสิทธิ ภาพในการลดการแพร่กระจายของโรคนี้ทางกระแสโลหิตลงให้ได้

      ขณะนี้ในประเทศไทย การรักษามะเร็งโพรงหลังจมูกในระยะโรคต่างๆ มีทั้ง รังสีฯเพียงวิธีเดียว; รังสีฯ+เคมีฯเฉพาะช่วงรังสีฯ; รังสีฯ+เคมีฯระหว่างรังสีฯ+เคมีฯหลังครบรังสี; และได้มีการนำยารักษาตรงเป้ามาใช้ร่วมด้วย ส่วนการจะเลือกวิธีใด จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาว่า ผู้ป่วยรายใดจะได้รับประโยชน์สูงสุด/เหมาะสมกับ การรักษาด้วยวิธีใด โดยแพทย์จะคำนึงถึง ระยะโรค สุขภาพร่างกายผู้ป่วย โรคร่วมต่างๆ/ โรคประจำตัว อายุ ตลอดจนความต้องการของผู้ป่วย/ครอบครัวผู้ป่วย เป็นหลัก

บรรณานุกรม

  1. Cancer 2017;123(21):4147–4157(abstract)
  2. Khuhaprema, T. et al. (2013). Cancer in Thailand. Volume. VII, 2007-2009. Thai National Cancer Institute
  3. 3. https://en.wikipedia.org/wiki/Nasopharynx_cancer [2018, May 17].